สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๖๕

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00065

๖๕...

            พับจดหมายใส่ซองปิดผนึกเรียบร้อยแล้ว ท่านพระครูจึงเอ่ยถามชายหนุ่มตรงหน้า “คุณว่าคุณมาตามภรรยาหรือ” ไม่ปรากฏบ่อยนักที่ท่านจะใช้คำว่า “คุณ” กับผู้ใด เพราะคำ ๆ นี้จะถูกนำมาใช้กับเฉพาะแต่กับคนที่ท่านรู้ว่าเขามีความรู้สึก “ห่างเหิน” ต่อท่านเท่านั้น ความรู้สึกดังกล่าวขึ้นอยู่กับ “คุณสมบัติทางใจ” ของแต่ละคน

            ผู้ที่มาวัดป่ามะม่วงส่วนใหญ่จะมาเพราะศรัทธานับถือในท่านพระครู หากก็มีบางคนที่มาแล้วเกิดความรู้สึกไม่ยอมรับนับถือท่าน ทั้งนี้เพราะคุณสมบัติทางใจของเขาเป็นไปในทางลบ เช่นเป็นคนที่ชอบสร้างอกุศลกรรมเป็นเนืองนิตย์ จนจิตคุณเคยกับความชั่วร้าย ครั้นเมื่อมาพบบุคคลเช่นท่าน ซึ่งเป็นผู้มีคุณสมบัติทางใจตรงข้ามกับของตน จึงไม่สามารถทำใจให้ยอมรับนับถือได้

            เมื่อเขามีความรู้สึกห่างเหินต่อท่านเช่นนี้ ท่านจึงต้องวางตนให้เหมาะสมกับความรู้สึกของเขาด้วย การไม่ใช้ถ้อยคำที่แสดงความเป็นกันเองให้เขาต้องอึดอัดขัดข้องใจ

            “ครับ เห็นเขาว่าเธอหนีมาบวชชีที่วัดนี้”

            “ทำไมถึงต้องหนีมาล่ะ” ท่านทดสอบ “คุณสมบัติทางใจ” ของบุรุษตรงหน้า

            “เรามีเรื่องกันนิดหน่อยครับ เรื่องของผัวเมีย” คำตอบนั้นบอกเป็นนัย ๆ ว่า “คนเป็นพระอย่ามายุ่ง”

         เอ ถ้าอย่างนั้นเห็นจะเป็นคนละคนเสียแล้ว เพราะแม่หนูคนที่ชื่อเตย เขาบอกอาตมาว่าเขายังไม่ได้แต่งงาน สงสัยคุณคงจะมาผิดวัดเสียแล้ว” ชายหนุ่มรู้สึกผิดหวัง แต่แล้วก็ถามอีกว่า

            “เขาท้องหรือเปล่าครับ ภรรยาผมเขาตั้งท้องอ่อน ๆ”

            “อันนี้อาตมาไม่ขอตอบ เพราะมันเป็นความลับของเขา ว่าแต่ว่าคุณเป็นสามีทำไมถึงปล่อยให้เขาหนีมาบวชล่ะ” ท่านซักไซ้เพื่อให้เขาสารภาพผิด

            “ผมเรียนท่านตั้งแต่ต้นแล้วนี่ครับว่าเป็นเรื่องของผัวเมีย ท่านเป็นพระก็อยู่ส่วนพระ” นอกจากจะไม่ยอมสารภาพแล้ว เขายังใช้ถ้อยคำที่ไม่สมควรกับท่านอีกด้วย

            “ถ้าอย่างนั้นอาตมาก็ต้องขอโทษที่เข้าไปยุ่งเรื่องส่วนตัวของคุณ ที่ถามเพราะอยากจะช่วยแก้ปัญหา แต่ในเมื่อคุณคิดว่าอาตมายุ่งก็ต้องขอโทษด้วย” เห็นท่านยอมรับผิด ชายหนุ่มจึงรุกอีกว่า

            “ท่านอนุญาตให้เขาบวชได้ยังไง คนหนีผัวมาท่านก็ยังบวชให้ ผมว่าท่านทำไม่ถูกต้องนะครับ”

            “ใครว่าอาตมาให้เขาบวชล่ะคุณ” เจ้าของกุฏิแย้ง รู้สึกสมเพชบุรุษตรงหน้าเสียนัก “กฎแห่งกรรม” ของเขาเปิดเผยให้เห็นว่าเขาไม่มี “ทุนเดิม” อยู่เลย ทุนเดิมที่หมายถึงบุญกุศล

            “อ้าว ถ้าไม่ได้บวชแล้วทำไมเขาหายมาตั้งร่วมยี่สิบวัน แล้วเขามอยู่ที่นี่ในฐานะอะไร หลวงพ่อให้เขาอยู่ในฐานะอะไรไม่ทราบ” ชายหนุ่มแสดงอาการก้าวร้าวและคิดอกุศลต่อท่านเจ้าอาวาสเพราะ ฤทธิ์หึง

            “คุณ อย่าคิดอะไรที่มันเป็นไปไม่ได้หน่อยเลย มโนทุจริตก็มีทุกข์มีโทษนะคุณ อาตมาไม่เคยคิดอกุศลเช่นนั้น เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ประเดี๋ยวอาตมาจะให้เด็กเขาไปเรียกแม่หนูคนนั้นมา แล้วคุณลองไปคุยกับเขา ไปถามเขาดู ไม่ต้องถามต่อหน้าอาตมาก็ได้ เพราะเดี๋ยวจะไม่กล้าพูดความจริงต่อกัน คุณลงไปรอเขานะ ให้รออยู่ข้างล่างนั่นแหละ ถ้ายังมีข้อข้องใจสงสัยค่อยขึ้นมาถามอาตมา”

            “ขอผมไปรอเขาที่อื่นไม่ได้หรือข้างล่างเหม็นออกจะตายไป เหม็นตาแก่ที่นั่งหลับตาอยู่นั่น” เขาหมายถึงอาจารย์ชิต ช่วงที่มานั่งรอนายขุนทองขึ้นมารายงานท่านเจ้าของกุฏิ เขาต้องทนนั่งดมกลิ่นร้ายกาจที่โชยมาจากกายของบุรุษนั้น

            “งั้นก็ไปนั่งรอที่ศาลาริมแม่น้ำก็ได้ ที่นั่นอากาศดี แล้วบอกเด็กของอาตมา ให้พาแม่หนูเตยไปหาที่นั่น” ท่านแก้ปัญหาเรื่องกลิ่นให้เขา

            “งั้นผมไปละ คงจะเป็นคนเดียวกับภรรยาผม” เขาว่า แล้วจึงลุกออกไปโดยมิได้ทำความเคารพ

            นายขุนทองนั่งรอฟังข่าวอยู่ครั้นเห็นเขาลงมาจึงถาม

            “ท่านว่ายังไงบ้างฮะพี่” คนถามอยากรู้

            “จะว่ายังไงกันไม่ใช่เรื่องของแก พาฉันไปรอที่ศาลาท่าน้ำ แล้วไปตามเมียฉันให้มาพบด้วย” คนถูกถามออกคำสั่ง นายขุนทองรู้สึกขัดเคืองกับถ้อยคำและกิริยาของอีกฝ่าย แรกเห็น เขาแอบชื่นชมในใจว่า “สุดหล่อ” ครั้นได้ฟังถ้อยคำ ได้เห็นกิริยาเย่อหยิ่งจองหองของชายหนุ่ม จึงประเมินค่าบุรุษนั้นในใจ หล่อแต่รูปจูบไม่หอม”

            “หลวงลุงสั่งหรือ” เขาถาม หากไม่ใช่คำสั่งของท่านพระครู เขาจะไม่ยอมไป ด้วยนึกชังน้ำหน้าคนยโสโอหัง

            “ทำไมต้องให้ท่านสั่ง ฉันสั่งไม่ได้หรือไง” ชายหนุ่มถามพาล ๆ

            “ได้ คุณสั่งได้ แต่ผมไม่จำเป็นต้องทำ เพราะคุณไม่ใช่เจ้านายผม แล้วผมก็ไม่ชอบให้ใครมาวางอำนาจที่กุฏิหลวงลุงของผม ขนาดรัฐมนตรีเขายังไม่วางอำนาจเลย แล้วคุณเป็นใครไม่ทราบ” ความโกรธทำให้นายขุนทองเรียกความรู้สึกความเป็นผู้ชายกลับคืนมา สายตาดูถูกดูแคลนของอีกฝ่าย ทำให้เขาต้องปิดบังซ่อนเร้นความรู้สึกที่อยากจะเป็นเอาไว้ คนทั้งสองทุ่มเถียงกันหนักขึ้นและเสียงก็ดังขึ้น ๆ ตามลำดับ อาจารย์ชิตกำลังนั่งสมาธิอยู่มีอันต้องกำหนด “เสียงหนอ เสียงหนอ” อย่างแสนจะรำคาญ กระทั่งได้ยินนายสมชายเข้าห้ามทัพ

            “เรื่องอะไรกัน เกรงใจอาจารย์เขาบ้างซี”

            “ผู้ชายคนนี้ มาหาเรื่องกับผมก่อน” นายขุนทอง “ฟ้อง” ศิษย์วัดรู้สึกดีใจที่เพื่อนร่วมกุฏิใช้คำว่า “ผม” แทนที่จะเป็น “หนู” อย่างเคย ทั้งซุ่มเสียงก็ฟังดูเป็นผู้ชายเฉกเช่นคนอื่นเขา

            “ใครหาเรื่องใคร ฉันใช้แกดี ๆ แกก็มาพาลเอากะฉัน” คนมาตามหาเมียเถียง

            “เขาใช้อะไรเอ็งก็ไปทำเสียสิขุนทอง เขาเป็นแขกหลวงพ่อนะ” ชายหนุ่มเตือนสติคนอายุน้อยกว่า แล้วถามคนเป็นแขกว่า

            “คุณใช้เขาทำอะไรหรือครับ”

            “ฉันให้เขาช่วยพาไปที่ศาลาท่าน้ำแล้วก็ให้ตามเมียฉันไปที่นั่น” เห็นนายสมชายเข้าข้าง ชายหนุ่มยิ่งแสดงทีท่าว่าตัวเองสำคัญและยิ่งใหญ่

            “ขอโทษนะครับ ภรรยาคุณชื่ออะไรครับ ประเดี๋ยวผมจะจัดการให้”

            “ชื่อเตย แต่ฉันต้องการให้นายคนนี้จัดการ”

            “เอาเถอะครับ เรื่องแค่นี้ผมทำให้ได้ อย่าคิดไปเอาชนะคะคานกับเขาเลยครับ เพื่อนผมเขาเหมือนโคนันทวิศาล ถ้าพูดดี ๆ เขาทำใจขาดไปเลย แต่ถ้าพูดไม่เข้าหู ให้เอาไปฆ่าเขาก็ไม่ยอมทำให้หรอกครับ” ศิษย์วัดชี้แจง

            “งั้นก็ดีละ ฉันมันคนชอบเอาชนะเสียด้วย แกพาฉันไปเดี๋ยวนี้ ไม่งั้นฉันจะขึ้นไปฟ้องหลวงพ่อ” ชายหนุ่มขู่

            “ผมไม่ไป” นายขุนทองปฏิเสธเสียงดังและเฉียบขาด นายสมชายสุดจะทานทน เพราะ “ขิงก็ราข่าก็แรง” เขาจึงจำต้องขึ้นไปเล่าให้ท่านพระครูฟัง ท่านจึงบอกนายสมชายว่า

            “ลงไปบอกเจ้าขุนทองมันว่า ถ้าไม่พาไป ฉันจะเป็นคนพาไปเอง พาไปทั้งขาหัก ๆ ยังงี้แหละ” ท่านรู้ว่าแม้หลานชายจะมีทิฐิมากเพียงใดก็ยังพดพูดกันรู้เรื่อง แต่คนที่มีคุณสมบัติทางใจไปในทางลบนั้น ไม่มีวันพูดกันได้เลย

            เมื่อนายสมชายลงมาบอกกล่าว นายขุนทองจึงพูดกับชายผู้นั้นว่า

            “ตกลงผมยอมแพ้ เชิญทางนี้” เขาลุกขึ้นเดินนำ ความรักและห่วงใยในหลวงลุงมีมากกว่าความอยากเอาชนะเจ้าหนุ่มใจอกุศลผู้นี้ “ถ้าไม่ใช่เพราะข้าห่วงหลวงลุงละก็ อย่าหวังเลยว่าข้าจะยอมแพ้เอ็ง” ชายหนุ่มคิดอย่างคั่งแค้น ขณะพาว่าที่สามีนางสาวเตยเดินไปยังท่าน้ำ ส่งเขาแล้วจึงเดินไปยังโรงครัว เพื่อบอกกล่าวบุคคลผู้เป็นต้นเหตุแห่งความยุ่งยากที่เกิดขึ้น เขาไปพบนางบุญพาน้องสาวนางบุญรับ ผู้มีคุณสมบัติ “ปากคอเราะร้าย” ไม่แพ้พี่สาว นางอาสามาเป็นคนล้างจานชามและเป็นลูกมือให้แม่ครัว เช่น ช่วยหั่นผัก ปอกหอม ปอกกระเทียม เป็นต้น

            “ป้าเห็นนังเตยอยู่แถวนี้บ้างไหม” ชายหนุ่มถาม

            “ตะกี้มันมากินข้าว แหม พอถูกข้าสะกิดเข้าหน่อยหายหัวไปเลย สงสัยจะไปนั่งร้องไห้อยู่หน้าโบสถ์ละมั้ง เอ็งลองตามไปดูซิ”

            “ป้าไปสะกิดอะไรเขาล่ะ” นายขุนทองถาม คนที่มาวัดนี้ใช่จะเป็นคนดีไปเสียหมด ก็ดูอย่างเจ้าหนุ่มคนนั้นและยายแก่คนนี้สิ น่าสงสารหลวงลุงแท้ ๆ ที่ท่านไม่มีโอกาสเลือกสรรคนดี ๆ มาช่วยงาน เขาเคยคิดเหมือนกัน คิดว่าจะเขียนป้ายไปติดไว้ที่หน้าประตูทางเข้า เขียนว่า “วัดนี้ต้อนรับเฉพาะคนดี” ก็ว่าจะลองไปปรึกษาหลวงลุงดูเหมือนกัน ขณะเขาหันหลังกลับเพื่อจะเดินไปยังพระอุโบสถ นางบุญพายังอุตส่าห์ส่งท้ายให้ได้ยินว่า

            “สงสัยจะหลงรักเมียคนอื่น อีเตยจะหาพ่อให้ลูกได้กันคราวนี้แหละ” แม้จะโกรธเคืองกับวาจากล่าวร้ายเสียดสี หากนายขุนทองก็ระงับอารมณ์ได้ เขารู้ว่าหากไปมีเรื่องกับใครเข้า คนที่จะต้องเดือดร้อนมากที่สุดก็คือหลวงลุงของเขา อีกประการหนึ่งท่านก็อยู่ในภาวะอาพาธป่วยไข้ ควรหรือที่เขาจะหาเรื่องหักอกหนักใจไปให้

            นางสาวเตยกำลังนั่งสมาธิ หล่อนพยายามระงับอารมณ์โกรธขึ้งที่มีต่อนางบุญพา เมื่อชั่วโมงที่ผ่านมานี้เอง ขณะที่หล่อนนั่งรับประทานอาหารกลางวันอยู่ในโรงครัว นางบุญพาก็ด่าหมาด่าแมวประชด หล่อนอยากจะลืมถ้อยคำเสียดสีเหล่านั้น แต่ยิ่งนั่งก็ยิ่งดูเหมือนเสียงของนางบุญพาจะดังก้องอยู่ในโสตประสาท เสียงที่หล่อนไม่ปรารถนาจะได้ยินได้ฟัง “อีพวกแม่หม้ายผัวทิ้ง” นางด่าบรรดาหมาแมวที่มายุ่มย่ามอยู่แถวนั้น เพื่อรอคอยกินเศษอาหาร พรางปรายตามาทางหล่อน ครั้นไม่เห็นปฏิกิริยาตอบโต้จึงดำเนินการด่าต่อไป “พวกมึงก็ดีแต่แร่ด ๆ ไปวัน ๆ เสร็จแล้วก็ท้องไม่มีพ่อ อีพวกตูดไว ไม่เลือกว่าไทยว่าแขก ขอให้เป็นตัวผู้เป็นดิ๊ก ๆ เข้าใส่”

         “โกรธหนอ โกรธหนอ” หญิงสาวกำหนดอยู่ในใจ เกิดอาการคอแข็งกินข้าวไม่ลง ในที่สุดจึงลุกเดินออกมา ตั้งใจว่าจะไปนั่งสงบสติอารมณ์ที่หน้าโบสถ์ แต่แล้วหล่อนก็นั่งอยู่ไม่ได้เลยต้องลุกขึ้นเดินจงกรม ครั้นเห็นนายขุนทองเดินมามาหา ก็เอ่ยถาม

            “พี่มีธุระอะไรกับหนูหรือเปล่า หรือว่าหลวงพ่อให้มาตาม” หล่อนลืมไปแล้วว่าวันนี้วันที่เท่าไหร่ เพราะขะมักขะเม้นกับการปฏิบัติจนลืมวันลืมเวลา

            ผัวเอ็งมารออยู่ที่ศาลาท่าน้ำ รีบไปหาเขาเร็ว ๆ เข้า” บอกแล้วก็ตั้งท่าจะเดินกลับ นางสาวเตยเห็นผิดสังเกต เพราะทุกครั้งเขาจะพูดคุยต่อล้อต่อเถียงกับหล่อน ทว่าวันนี้ดูเขาเงียบขรึมผิดปกติ จึงถาม

            “วันนี้พี่ไม่สบายหรือเปล่า”

            “ข้าสบายดี รีบไปหาผัวเองก่อนเถอะ ประเดี๋ยวเขาจะพาลเอากะข้าอีกหรอก”

 

            “แสดงเขาพูดไม่ดีกับพี่ใช่ไหมล่ะ หนูพอจะรู้หรอก ผู้ชายคนนี้นิสัยไม่ค่อยดีเท่าไหร่ หนูชักไม่อยากแต่งงานกับเขาแล้วละ” หล่อนพูดจากใจจริง ไม่รู้สึกยินดียินร้ายกับการมาของเขา ช่วงเวลาแห่งการปฏิบัติ จิตใจของหล่อนละเอียดประณีตขึ้นตามลำดับ และบัดนี้ “ปัญญา” ได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาในการมองสิ่งทั้งหลายตามที่เป็นจริงโดยไม่เอาตัณหา อุปาทานเข้าไปเกาะเกี่ยว

            “แต่เอ็งก็ต้องแต่งนะ เพราะเอ็งท้องกับเขาแล้ว นี่ถ้าเอ็งไม่ท้องไม่ไส้ ข้าก็จะไม่สนับสนุนให้เอ็งแต่งกับเขาหรอก” เห็นหญิงสาวไม่เข้าข้างหนุ่มคนรัก นายขุนทองก็อารมณ์ดีขึ้น จึงแสดงความห่วงใยออกมา

            “นั่นสิ แต่พูดก็พูดเถอะนะพี่ ถ้าหนูแต่งงานกับเขาแล้ว เขายังไม่เปลี่ยนนิสัย หนูก็จะเลิกกับเขา “ หนูเลี้ยงลูกเองได้ นี่หนูพูดจริง ๆ นะพี่” หล่อนพอที่จะมองเห็นอนาคต การร่วมชีวิตกับผู้ชายคนนั้นคงจะไม่ยั่งยืน หากเขายังคงเป็นเช่นที่กำลังเป็นอยู่

            “เอาเถอะ นั่นเป็นเรื่องของอนาคต อย่าเพิ่งไปคิดถึงมัน รีบ ๆ ไปหาเขาเถอะ ถ้าเอ็งไม่อยากให้ข้าต้องเดือดร้อน” พูดจบคนนำข่าวมาให้ก็เดินกลับไปยังกุฏิ นางสาวเตยตั้งสติกำหนด “ขวา-ซ้าย ขวา-ซ้าย” ไปตลอดทางทุกย่างก้าว กระทั่งถึงศาลาริมน้ำ

            “เตย เตยจริง ๆ นั่นแหละ” คนที่คอยอยู่ลุกเดินเข้ามาหา ครั้นถึงตัวก็เข้าโอบกอด ผู้หญิงท้องดูเปล่งปลั่งสดใส จึงดูสะสวยไปทั้งร่าง

            “พี่เมธอย่าทำยังงี้ นี่มันในวัดในวานะ” นางสาวเตยว่า พลางแกะมือคนรักออกจากการโอบกอด

            “ในวัดที่ไหนกัน นี่มันนอกวัด นั่งไงประตู เขาชี้ไปที่ประตูที่เขาเดินออกมาสู่ศาลาแห่งนี้

            “ถึงยังงั้นก็เถอะ ฉันกำลังเข้ากรรมฐาน พี่จะมาทำยังงี้กะฉันไม่ได้ คำว่า “กรรมฐาน” ไม่เคยผ่านหูนายสุเมธ เขาจึงคิดอกุศลกับหล่อน

            “อ้อ เดี๋ยวนี้เธอรังเกียจพี่เสียแล้วหรือ ทีแต่ก่อนไม่เห็นเป็นนี่นา คงเจออะไรดี ๆ เข้าล่ะซี กับสมภารหรือกับลูกศิษย์ล่ะ”

            “พี่เมธ! หญิงสาวเรียกชื่อคนรักด้วยเสียงเกือบเป็นตะโกน

            “พี่อย่าเอานรกมาให้ฉันได้ไหม พี่รู้หรือเปล่าว่าพูดอะไรออกมา หลวงพ่อท่านรู้นะ พี่จะพูดจะคิดยังไงท่านรู้หมดนั่นแหละ”

            “อ้อ นี่เธอกำลังจะบอกพี่ว่าเขาเป็นผู้วิเศษงั้นซี” นายสุเมธพูดด้วยมีจิตริษยาในท่านพระครู

            “ไม่ใช่เขานะ พี่ต้องพูดว่า “ท่าน” ถึงจะถูก นี่ฉันพูดจริง ๆ นะว่าท่านรู้ ท่านบอกว่าท่านไม่ได้เป็นผู้วิเศษ แต่ท่านก็รู้ ฉันคิดอะไร พูดอะไรกับใครท่านก็รู้หมด” แล้วหล่อนจึงเล่าเรื่องราวให้เขาฟังตั้งแต่ต้นจนจบ ด้วยความมั่นใจว่าเขาจะต้องเกิดศรัทธาปสาทะบ้างไม่มากก็น้อย หากก็ต้องผิดหวังเมื่อนายสุเมธพูดว่า

         “โธ่เอ๊ย จ้างพี่ก็ไม่เชื่อ อะไรจะเก่งถึงปานนั้น พี่ว่าเดาเก่งเสียมากกว่า” นางสาวเตยคร้านจะพูดต่อ “ปัญญา” ทำให้หล่อนมองชายคนรักอย่างทะลุปรุโปร่ง ชายผู้นี้ “มืดบอด” จนไม่ยอมรับว่าแสงสว่างมีอยู่ในโลก!

         “ตกลง ฉันจะยังไม่กลับนะ อยากอยู่ให้สบายใจไปอีกซักสีห้าวัน” หญิงสาวพูดจากใจจริง

         “อ้อ อยู่มาร่วมยี่สิบวันยังไม่พอใจหรือ สมภารวัดนี้คงเสน่ห์แรงซีนะ เธอถึงได้อยากจะอยู่ต่อ” วจีทุจริตพรั่งพรูออกมาจากมโนทุจริต นางสาวเตยสุดจะทนฟัง หล่อนรู้ว่า หากขืนดื้อดึงอยู่ตอไปก็รังแต่จะทำให้ผู้ชายคนนี้ยิ่งบาปหนักหนามากขึ้น ถึงอย่างไรเขาก็ได้ชื่อว่าเป็นพ่อของลูกในท้อง การจะทำให้เขาต้องมืดมนมากไปกว่านี้หาควรไม่

         “ตกลง กลับก็กลับ งั้นให้ฉันไปลาหลวงพ่อก่อนนะ มาอาศัยข้าวน้ำท่านตั้งหลายวัน ต้องไปกราบขอบคุณท่าน”

         “เธอขึ้นไปคนเดียวนะ พี่จะรออยู่ข้างล่าง อ้อ ชวนเจ้ากระเทยนั่นขึ้นไปเป็นเพื่อนด้วย” ชายหนุ่มพูด เขารู้สึกไม่ชอบท่านเอามาก ๆ ถึงกับไม่อยากขึ้นไปพบปะ อันที่จริง “กระแสบาป” ของเขาไม่อาจต้าน “กระแสบุญ” ของท่านได้ต่างหากเล่า

         ครู่ใหญ่ ๆ นายขุนทองก็นำนางสาวเตยขึ้นมาพบท่านเจ้าของกุฏิ นายสมชายตามขึ้นมาด้วย เพราะไม่อยากอยู่ดูหน้าชายคนนั้น อาจารย์ชิตรู้ว่าเขาคงจะรังเกียจ จึงเลี่ยงออกไปเดินจงกรมที่หน้าโบสถ์ ชั้นล่างของกุฏิจึงมีนายสุเมธนั่งรออยู่อย่างกระสับกระส่าย

         กราบท่านพระครูแล้ว นางสาวเตย ก็นั่งร้องไห้กระซิก ๆ “ร้องไห้ทำไมอีกล่ะ เขามารับแล้วไม่ใช่หรือ” ท่านถามอย่างปรานี

         “หนูไม่อยากไปค่ะหลวงพ่อ อยู่ที่นี่สบายอกสบายใจดีเหลือเกิน ถึงจะถูกยายบุญพาว่ากระทบกระเทียบหนูก็ทำใจได้ ดีเสียอีกจะได้ทำแบบฝึกหัดไปในตัว” หล่อนพรรณนา

         “กลับไปเถอะหนู ไปแต่งงานแต่งการให้เป็นเรื่องเป็นราว พ่อแม่เขาจะได้ไม่ต้องอับอายขายหน้า เอาเถอะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน ส่วนอะไรมันจะเกิดขึ้นภายหลังก็ค่อยว่ากันใหม่” ท่านเห็นกฎแห่งกรรมของคนคู่นี้แล้วว่าจะอยู่กันไม่ยืดเพราะ “ธรรมไม่เสมอกัน”

            “แต่หนูสังหรใจค่ะหลวงพ่อ สังหรณ์ใจว่าคงจะอยู่กันไม่ยืด หลวงพ่อมีความเห็นอย่างไรคะ” หล่อนถามเพราะรู้ว่าท่านต้อง “รู้”

         “ในตอนนี้หลวงพ่อยังไม่มีความเห็นอะไร แต่ถ้าต่อไปในภายภาคหน้า หากหนูมีปัญหาอะไรจะปรึกษาก็มาหาหลวงพ่อได้ หลวงพ่อยินดีรับปรึกษาโดยไม่คิดมูลค่า” ท่านตั้งใจพูดตลกเพื่อคลี่คลายบรรยากาศที่แสนจะเคร่งเครียดให้คลายความเครียดลง

         “เอาละ ในฐานที่หนูจะมีคู่ หลวงพ่อก็จะพูดถึงหลักธรรมของคู่ชีวิตให้ฟัง เพื่อหนูจะได้จดจำเอาไว้ประพฤติปฏิบัติ หลักธรรมของคู่ชีวิต คือธรรมที่ทำให้คู่สมรสมีชีวิตสม่ำเสมอกลมกลืนกัน อยู่ครองกันยืดยาว เราเรียกธรรมนั้นว่า “สมชีวิธรรม ๔”  ซึ่งได้แก่ สมสัทธา คือมีศรัทธาเสมอกัน สมสีลา – มีศีลเสมอกัน สมจาคา – มีการเสียสละเสมอกัน และ สมปัญญา – มีปัญญาเสมอกัน คู่สมรสใดมีธรรมทั้ง ๔ นี้เหมือนกัน ก็จะอยู่ด้วยกันยืด แต่ถ้าคนหนึ่งมีศีล คนหนึ่งทุศีล ก็อยู่ด้วยกันไม่ได้ จริงไหม เพราะศีลไม่เสมอกัน ข้ออื่น ๆ ก็ทำนองเดียวกันนี้” คำสอนของท่านพระครูทำให้นางสาวเตยสรุปได้ในเดี๋ยวนั้นว่าหล่อนกับนายสุเมธไม่มี “ธรรม” เสมอกันสักประการเดียว ไม่ว่าจะเป็น ศรัทธา ศีล การเสียสละ หรือ ปัญญา!

         “หลวงพ่อคะ หนูขอพรให้ลูกในท้องด้วยค่ะ” เมื่อพูดเรื่อง “ผัว” แล้วทำให้หล่อนไม่สบายใจ จึงเปลี่ยนมาพูดถึง “ลูก” แทน

         “หลวงพ่อขออวยพร ขอให้นักปราชญ์มาเกิดนะ แต่หนูก็ต้องทำให้พรนั้นสัมฤทธิ์ผลด้วย โบราณเขาสอนไว้ ถ้าเรือนสกปรก สัตว์นรกจะมาเกิด ถ้าเรือนสะอาด นักปราชญ์มาเกิด เรือนในที่นี้ก็หมายถึงเรือนกาย เรือนวาจา และเรือนใจ หรือจะหมายถึงที่อยู่อาศัยก็ได้ ถ้าเรามีกาย วาจา ใจ สะอาดบริสุทธิ์ คนที่เขาจะมาเกิดกับเราก็ต้องมาจากที่ดี แต่ถ้าเรือนสกปรก แน่นอนเหลือเกินว่า ผู้ที่จะมาเกิดนั้นจะต้องมาจากนรก เราจะรู้ได้เลยว่าลูกเรานี่เป็นนักปราชญ์หรือเป็นสัตว์นรกมาเกิด

         ถ้าใครมีลูกที่มาจากนรกนะ เชื่อเถอะพ่อแม่หาความสุขไม่ได้เลย เพราะเขาจะเถียงพ่อแม่คำไม่ตกฟาก แล้วก็ขยันหาเรื่องเดือนร้อนมาให้ แต่ถ้าเป็นนักปราชญ์มาเกิด ก็จะทำให้พ่อแม่สุขสบายทั้งกายทั้งใจ แล้วก็จะนำชื่อเสียงเกียรติยศมาสู่วงศ์ตระกูล

            หนูหมั่นรักษากายวาจาใจให้สะอาดหมดจดด้วยการหมั่นเจริญกรรมฐานนะหนูนะ แล้วหนูจะประสบความสุขความเจริญในชีวิต เอาละ กลับไปได้แล้ว ประเดี๋ยวคู่รักเขาจะรอนาน” ท่านพูดเพราะ “รู้” ว่านายสุเมธกำลังนั่งด่าท่านในใจ ท่านยังรู้อีกว่าไม่นานนักหรอกที่คนคู่นี้จะต้องเลิกร้างกันไป และต่างก็จะพบกับคนที่มีธรรมเสมอกับตน คือมีคุณสมบัติทางใจเหมือน ๆ กัน...

 

            มีต่อ........๖๖