สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๖๖

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00066

๖๖...

         เป็นวันที่อาจารย์ชิตมาอยู่วัดป่ามะม่วงครบเดือนพอดี เขาตื่นนอนตอนตี ๔ เช่นเคย ไหว้พระสวดมนต์แล้วก็เริ่มเดินจงกรมอยู่ภายในกุฏิเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง จากนั้นจึงกำหนดนั่ง รู้สึกจิตตั้งมั่นได้เร็วกว่าทุกครั้ง อาการพอง-ยุบ ชัดเจนเป็นจังหวะ แม้จะรู้สึกปวดที่กกหูข้างขวา หากก็สามารถใช้สติข่มเวทนาได้ บัดนี้เขาไม่ต้องตั้งนาฬิกาปลุก เพราะจิตสามารถรู้ได้เองว่าถึงเวลาที่กำหนดแล้วหรือยัง เป็นความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นได้แต่เฉพาะกับผู้ที่ฝึกจิตไว้ดีแล้วเท่านั้น

         อีกสิบห้านาทีจะครบชั่วโมง บุรุษสูงวัยรู้สึกปวดที่แผลเป็นกำลัง ปวดราวกับจะไม่สามารถทานทนได้ น้ำเหลืองไหลออกมามากผิดปกติ จนเสื้อที่สวมอยู่เปียกขึ้น แล้วยังไหลเลยไปเปียกกางเกงอีกด้วย ช่วงเวลาแห่งความทุกข์ทรมานนั้น เขารวบรวมสติตั้งจิตอธิษฐาน

            “สาธุ ด้วยอำนาจแห่งพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ และบารมีของท่านพระครูเจริญแห่งวัดป่ามะม่วง หากทุกขเวทนาที่ข้าพเจ้ากำลังได้รับอยู่นี้ มีสาเหตุมาจากกรรมที่ข้าพเจ้าได้เคยทำไว้ ไม่ว่าจะเป็นชาตินี้หรือในอดีตชาติ ขอให้ข้าพเจ้าสามารถระลึกนึกย้อนไปถึงกรรมนั้นได้ เพื่อจะขออโหสิกรรมต่อเจ้ากรรมนายเวร ขอให้ข้าพเจ้าจงหมดเวรกรรมในชาติปัจจุบันด้วยเทอญ”

         สิ้นคำอธิษฐาน ภาพยนตร์แห่งอดีตที่ตัวเขาเป็นผู้แสดงก็ฉายชัดขึ้นในมโนภาพ ผู้ชายอายุสามสิบกำลังขะมักเขม้นเรียนวิชาที่อาจารย์กำลังสอน คนคนนั้นคือตัวเขาเอง เมื่อสามสิบปีที่แล้วเขาได้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ประเทศฟิลิปปินส์ ในสาขาวิชาการเกษตร ในหลักสูตรมีวิชา “วิธีการฆ่า” รวมอยู่ด้วย และในการเรียน นักเรียนก็ต้องลงมือฆ่าสัตว์กันคราวละหลาย ๆ ตัว สัตว์ที่จะนำมาเป็นอาหาร เช่น เป็ด ไก่ หมู และ วัว

         เขาจำได้ว่ากว่าจะจบหลักสูตร ได้ฆ่าสัตว์เหล่านี้ไปนับร้อย ๆ ชีวิต โดยการใช้มีดปลายแหลมแทงที่บริเวณคอ ผลกรรมอันนี้จึงทำให้เขาเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โชคยังดีที่เขาไม่ได้นำวิชานี้มาเปิดสอนนักศึกษาในเมืองไทย มิฉะนั้นก็คงก่อกรรมทำเข็ญมากกว่านี้

         เมื่อภาพยนตร์แห่งอดีตฉายจบลง เขาจึงตั้งจิตอธิษฐานแผ่เมตตาและอุทิศส่วนกุศลให้แก่สัตว์ที่ตนเคยฆ่า และคงจะได้ผล เพราะเขาได้ยินชัดเจน....เสียงที่ก้องอยู่ในโสตประสาทว่า “อโหสิ อโหสิ อโหสิ สาธุ อนุโมทามิ”

            สิ้นเสียงของเจ้ากรรมนายเวร อาการปวดแผลหายวับไปราวกับไม่เคยรู้สึกเจ็บปวดเช่นนี้มาก่อน จิตของบุรุษสูงวัยรับรู้ว่าหมดเวลาของการนั่งแล้ว เขาจึงกำหนดลืมตา เอมือคลำที่ใต้กกหูข้างขวาก็ไม่ปรากฏว่ามีแผล แถมเสื้อผ้าที่เปียกชื้นก็แห้งสนิท ไม่มีกลิ่นชวนให้ขยะแขยงใด ๆ หลงเหลืออยู่ อารามดีใจเขาส่งเสียงเรียกนายสมชายและนายขุนทองดังลั่นกุฏิ

         “สมชาย ขุนทอง มานี่หน่อย นายขุนทองเข้ามาก่อนเพราะอยู่ใกล้ ส่วนนายสมชายนั้นเมื่อไม่ได้ทำหน้าที่หิ้วปิ่นโตตามหลังท่านพระครูในเวลาที่ท่านออกบิณฑบาต จึงถือโอกาสนอนตื่นสาย และไม่ได้ยินเสียงเรียกของบุรุษวัยหกสิบ

         “อาจารย์เรียกหนูเหรอฮะ” ชายหนุ่มถาม

         “ถูกแล้ว ช่วยขึ้นไปเรียนให้หลวงพ่อทราบหน่อยว่าผมมีธุระของพบด่วน”

         “ฮะ แต่หนูขออนุญาตล้างหน้าแปรงฟันก่อนได้ไหมฮะ” เขาต่อรองและแล้วก็ต้องเปลี่ยนใจเมื่อเห็นท่าทางรีบร้อนของอีกฝ่าย “ตกลงฮะ หนูจะขึ้นไปเรียนท่านเดี๋ยวนี้” เขาหายขึ้นไปอึดใจหนึ่งก็ลงมา

         “หลวงลุงบอกให้ขึ้นไปได้เลยฮะ” อาจารย์ชิตจึงขึ้นไปกราบท่านพระครูสามครั้งอย่างสำนึกในบุญคุณ เขาเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ท่านเจ้าของกุฏิฟัง รู้สึกปีติจนน้ำใส ๆ คลอหน่วยตาทั้งสอง

         “อาตมาขออนุโมทนา โยมหมดเวรหมดกรรมแล้ว กรรมเก่าชดใช้แล้ว กรรมใหม่ก็อย่างสร้างอีก นี่อาตมาหมายเฉพาะกรรมชั่วนะ อย่าไปสร้างอีก ถ้าจะสร้างก็ขอให้เป็นกรรมดี เข้าใจหรือเปล่า”

         “เข้าใจครับ ผมเข็ดแล้วครับหลวงพ่อ เข็ดจริง ๆ ไม่นึกเลยว่าเวรกรรมจะให้ผลทันตาเห็นในชาตินี้ ผมลืมไปสนิทเลยครับว่าได้ทำกรรมนี้เอาไว้ ก็มันผ่านมาตั้งสามสิบปีแล้วนี่ครับ” บุรุษสูงอายุว่า

         “นั่นสิ อย่าว่าแต่สามสิบปีเลย แค่ผ่านไปเมื่อวานบางคนก็ยังลืมเสียแล้ว จริงไหม”

         “จริงครับ แต่หลวงพ่อครับ ผมสงสัยเหลือเกินว่าทำไมแผลจึงหายเร็วนัก ตอนเริ่มนั่งสมาธิผมยังปวดแทบจะทนไม่ไหว แต่บทจะหายก็หายไปโดยไม่ทิ้งร่องรองอะไรไว้ แม้แต่กลิ่นก็ไม่มีเหลือ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นครับ”

         “ก็อาตมาเคยบอกแล้วไม่ใช่หรือว่า โรคกรรมนั้นไม่เหมือนกับโรคทั่ว ๆ ไป ถ้าเจ้ากรรมนายเวรเขายังอาฆาต หมอก็รักษาให้หายไม่ได้ แต่พอเขาอโหสิ โรคก็หายไปเอง อย่าไปสงสัยเลย เป็นเรื่องของ “กรรมวิสัย” น่ะ พระพุทธองค์ท่านตรัสห้าม เพราะเป็นอจินไตย เรื่องนี้อาตมาเคยพูดไปครั้งหนึ่งแล้ว โยมคงจำได้”

         “ครับจำได้ ถ้าเช่นนั้นผมเห็นจะต้องเลิกสงสัย เพราะเดี๋ยวนี้ “เป็นผู้มีส่วนแห่งความบ้า” ดังที่พระพุทธองค์ตรัส” เขายิ้มทั้งน้ำตา

         “เอาละ ใกล้เวลาอาหารเช้าแล้ว ไปเตรียมล้างหน้าล้างตากันก่อน เดี๋ยวอาตมาก็จะลงไปสรงน้ำเหมือนกัน”

         “แล้วหลวงพ่อไม่ปวดขาหรือครับ เวลาเดินขึ้นเดินลงน่ะครับ”

         “ปวดก็ต้องทนเอา นี่ก็โรคกรรมเหมือนกัน แต่อาตมาลงวันละครั้งเท่านั้น ตอนเย็นก็งดสรงน้ำ ใช้เช็ดตัวแทน” อาจารย์ชิตกำลังจะลงมาข้างล่าง นายสมชายก็เดินออกมาจากห้องพอดี เห็นท่าทางสดชื่นเบิกบานของอีกฝ่ายจึงเอ่ยทัก

         “มาหาหลวงพ่อแต่เช้าเลย มีอะไรพิเศษหรือครับ”

         “ผมหมดเวรหมดกรรมแล้ว ดูสิแผลที่กกหูก็หายสนิทเลย แถมไม่มีกลิ่นน่ารังเกียจด้วย ต้องขอขอบใจสมชายกับขุนทองที่ช่วยดูแลผมอย่างดี ต่อไปนี้ผมจะเดินไปรับประทานอาหารที่โรงครัวเอง ไม่ต้องลำบากเอามาให้ผม ขอเริ่มตั้งแต่มื้อนี้เลย” คนหายป่วยพูดจ้อย ๆ

         “ผมขอแสดงความยินดีด้วยนะครับ” ศิษย์วัดแสดงมุทิตาจิต เมื่อเห็นเขาพ้นทุกข์พ้นร้อน

         “งั้นเดี๋ยวคุณล้างหน้าล้างตาแล้ว จะได้ไปนำอาหารมาถวายหลวงพ่อ ขออนุญาตให้ผมไปช่วยยกด้วยคนนะ ตอนนี้ผมไม่มีกลิ่นน่ารังเกียจแล้ว” คนสูงวัยอาสา อยากทำหน้าที่นี้มานาน นับตั้งแต่ท่านพระครูได้รับอุบัติเหตุออกบิณฑบาตไม่ได้ แต่เมื่อนึกถึงกลิ่นกายที่ไม่พึงปรารถนาของตน ก็ต้องอดใจไว้

         “หลวงพ่อจะลงเดี๋ยวนี้เลยหรือเปล่าครับ ผมจะได้ช่วยประคองไป” นายสมชายจึงตอบแทนท่านพระครูว่า

         “คงไม่ต้องมั้งครับอาจารย์ ขนาดผมจะช่วยท่านก็ยังไม่ยอม บอกเดี๋ยวจะชดใช้กรรมไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ก็ต้องตามใจท่าน” ศิษย์วัดอดกระแนะกระแหนเสียมิได้

         “เอาละ ๆ อย่ามัวพูดมากอยู่เลย จะทำอะไรก็รีบ ๆ ไปทำซะ ฉันจะใช้เวลาตอบจดหมายอีกสักสองสามฉบับแล้วจึงจะลงไปล้างหน้า จะได้ไม่ต้องแย่งกันใช้ห้องน้ำ” ชายหนุ่มจึงลงมาทำธุระที่ห้องน้ำใต้บันได อาจารย์ชิตกราบท่านพระครูสามครั้ง แล้วจึงตามลงมา ครั้นเห็นนายขุนทองกำลังเก็บที่นอนให้ตน จึงรีบเข้าไปช่วย

         “ขอโทษที ผมรีบขึ้นไปหาหลวงพ่อ เลยยังไม่ทันได้เก็บที่หลับที่นอนให้เรียบร้อยเสียก่อน”

         “ไม่เป็นไรฮะ อาจารย์คงมีเรื่องด่วนกับหลวงลุงใช่ไหมฮะ” คนถามอยากรู้

         “ก็ด่วนเหมือนกัน แต่เรียบร้อยแล้ว ผมเพียงแต่จะไปกราบเรียนท่านว่าผมหายแล้ว คุณดูนี่ซี แผลใต้กกหูข้างขวาผมหายสนิทเลย อัศจรรย์เหลือเกิน” พูดพร้อมกับเอียงหน้าให้เขาดูตรงที่เคยมีแผล

         “อุ๊ยจริง ๆ ด้วย แล้วกลิ่นก็หายไปด้วย อาจารย์ไปทำยังไงหรือฮะ”

         “ผมก็ปฏิบัติตามที่หลวงพ่อท่านแนะนำ เป็นเพราะบารมีของท่านแท้ ๆ เทียวที่ทำให้ผมหายจากโรคร้าย เหมือนตายแล้วเกิดใหม่เลยนะนี่”

         “งั้นอีกไม่นานอาจารย์ก็คงกลับไปอยู่บ้าน ใช่ไหมฮะ หนูคงคิดถึงอาจารย์แย่เลย เมื่อพูดถึงบ้าน อาจารย์วัยหกสิบรู้สึกคิดถึงภรรยาและลูก ๆ ขึ้นมาทันที ความขุ่นข้องหมองใจที่เคยมีต่อพวกเขาพลันมลายไปสิ้น

         “ผมก็คงคิดถึงที่นี่เหมือนกัน โดยเฉพาะหลวงพ่อ”

         “งั้นอาจารย์ก็อย่าเพิ่งกลับซีฮะ อยู่ไปอีกซักเดือนสองเดือน” ชายหนุ่มชวนให้เขาอยู่ต่อ

         “ผมตั้งใจจะอยู่จนกว่าหลวงพ่อจะหายเป็นปกติ อยากช่วยแบ่งเบาภาระของท่าน เพื่อทดแทนบุญคุณที่ท่านชุบชีวิตใหม่ให้กับผม หลังจากนั้นก็ว่าจะกลับไปเยี่ยมบ้านสักพัก ใกล้เข้าพรรษาจะกลับมาบวชที่วัดนี้” ผู้สูงอายุวางแผนชีวิต

         “หนูขออนุโมทนาด้วยฮ่ะ แล้วก็ดีใจที่มีคนมาช่วยงานหลวงลุง ห้องน้ำว่างแล้ว เชิญอาจารย์เถอะฮ่ะ” เมื่ออาจารย์ชิตหายเข้าไปในห้องน้ำ นายขุนทองก็จัดการกวาดถูกุฏิชั้นล่างจนสะอาดสะอ้าน ส่วนชั้นบนเป็นหน้าที่ของนายสมชาย เพราะแบ่งงานกันแล้ว

         “ขุนทอง วันนี้เอ็งไม่ต้องไปช่วยข้ายกสำรับของหลวงพ่อนะ อาจารย์เขาจะจัดการเอง” นายสมชายลงมาบอกกล่าว

         “ก็ดีซีพี่ แบบนี้ขุนของก๊ด ส.บ.ม.”

         “อะไรของเอ็งวะ ส.บ.ม. อะไร” ศิษย์วัดไม่รู้เรื่อง

         “วุ๊ย พี่นี่เช้ยเชย ส.บ.ม. ก็ย่อมาจาก สบายมาก ไง” หนุ่มวัยยี่สิบเอ็ดเฉลย อาจารย์ชิตออกมาจากห้องน้ำและเช็ดหน้าตาแห้งแล้ว นายสมชายจึงเอ่ยชวน

         “ไปกันหรือยังครับ”

         “แล้วขุนทองล่ะ” บุรุษสูงวัยถาม

         “สองคนก็พอฮ่ะ” หนูจะจัดถ้วยจัดจานขึ้นไปก่อน” เขาตอบ คนทั้งสองจึงเดินมุ่งหน้าไปยังโรงครัว เพื่อนำภัตตาหารมาถวายท่านพระครู

         หลังอาหารเช้า อาจารย์ชิตและนายสมชาย ก็ขึ้นไปช่วยงานท่านเจ้าของกุฏิอย่างเคย จดหมายเพิ่มจำนวนมากขึ้นในแต่ละวัน และคนที่เขียนมาล้วนแต่ขอให้ท่านช่วยแก้ปัญหา ช่วยดับร้อนผ่อนทุกข์ บ้างก็พรรณนาถึงความคับแค้นใจที่สามีไปมีหญิงอื่น ไม่มีสักฉบับเดียวที่ท่านอ่านแล้วจะเกิดความชุ่มชื่นระรื่นจิต ด้วยไม่มีใครเขียนมาบอกว่า “หนูมีความสุขแล้ว หนูรวยแล้ว สามีหนูดีแล้ว ลูกหนูดีแล้ว หนูไมมีปัญหาใด ๆ ไม่เดือดเนื้อร้อนใจเหมือนคนอื่นเขา เพราะลูกก็ดี ผัวก็ดี คนใช้ก็ดี” ท่านอยากจะได้รับจดหมายในทำนองนี้บ้าง หากก็ไม่มีเลย เพราะถ้าเขามีความสุขกันแล้ว เขาก็จะไม่นึกถึงท่าน คนที่จะคิดถึงท่านก็คือ คนมีทุกข์ คนมีปัญหา!

         ภิกษุหนึ่งรูปกับฆราวาสสองคน เพิ่งจะช่วยกันตอบจดหมายไปได้ฉบับเดียว นายขุนทองก็ขึ้นมารายงาน

         “หลวงลุงฮะ ท่านรัฐมนตรีมาขอพบฮะ”

         “รัฐมนตรีไหนล่ะ” ท่านถาม เพราะวัดนี้มีรัฐมนตรีมาหลายคน อดีตรัฐมนตรีบ้าง รัฐมนตรีคนปัจจุบันบ้าง รัฐมนตรีในอนาคตบ้าง โดยเฉพาะประเภทหลังมีมากที่สุด เพราะใคร ๆ ก็ฝันอยากจะเป็นรัฐมนตรีกันทั้งนั้น

         “คนที่เคยมาเลี้ยงเพลเมื่อวันที่หลวงลุงไปเผาศพป้าเน้นน่ะฮะ” หลานชายตอบ นายสมชายรีบแย้งว่า

         “ไม่ใช่ป้าเน้ยหรอกขุนทอง ป้านวลศรีต่างหาก คนชื่อเน้ยเป็นลูกสาว เอ็งไปแช่งเขาซะแล้ว ระวังบาปจะกินหัวเอ็ง”

         “อ้าวไหงเป็นยังงั้นไปได้ ก็หนูไม่รู้จักตัว เคยได้ยินแต่ชื่อ เลยไม่รู้ว่าเป็นคนไหนเป็นแม่คนไหนเป็นลูก จะให้ลูกตายก่อนแม่ซะแล้ว

         “แต่ความจริงยังอยู่ทั้งแม่ทั้งลูกนั่นแหละ ยังไม่มีใครตายสักคน” ศิษย์วัดว่า

         “มี ก็ลูกเขยเขาไงล่ะ” คราวนี้คนที่แย้งคือท่านพระครู

         “อ้าว ทำไมถึงได้กลับตาลปัตรยังงั้นล่ะ” เขาถามนายสมชาย

         “เห็นหลวงพ่อบอกว่าเป็นเรื่องของกรรม ข้าก็ไม่ค่อยเข้าใจซักเท่าไหร่หร็อก เอ็งอยากรู้ก็ถามหลวงพ่อเอาเอง” ศิษย์วัดจัดการโยนกลองไปให้ท่านพระครู

         “มัวเถียงกันอยู่นั่นแหละ เดี๋ยวรัฐมนตรีท่านก็คอยแย่ ลงไปเรียนท่านว่าข้าให้ขึ้นมาบ้างบนนี้” ท่านเจ้าของกุฏิ ออกคำสั่ง นายขุนทองจึงลงมาข้างล่างเพื่อเรียนให้รัฐมนตรีทราบ

         “ถ้าเช่นนั้นผมจะลงไปข้างล่างก่อนนะครับ เผื่อท่านจะมีอะไรจะคุยกับหลวงพ่อเป็นพิเศษ” อาจารย์ชิตพูดอย่างคนมีมารยาท

         “ไม่ต้องหรอกโยม ท่านเพียงแต่จะมาบอกว่าจะมาเลี้ยงเพลในวันคล้ายวันเกิดของคุณหญิง”

         “จริงหรือครับ ทำไมหลวงพ่อทราบ”

         “เดี๋ยวโยมคอยดูก็แล้วกันว่าจะเหมือนที่อาตมาพูดไว้หรือเปล่า” พอดีกับรัฐมนตรีขึ้นมาถึงพร้อมผุ้ติดตามซึ่งแต่งเครื่องแบบนายตำรวจยศพันเอก คนทั้งสองกราบท่านสามครั้ง “เจริญพรท่านรัฐมนตรี อาตมาต้องขอประทานโทษ ที่ต้องให้ขึ้นมาบนนี้ เด็กเขาคงเรียนให้ท่านทราบแล้วว่าเพราะเหตุใด” ท่านหมายถึงนายขุนทอง

         “ครับ เขาบอกว่าหลวงพ่อตกบันไดขาหัก ทำไมหลวงพ่อไม่ไปหาหมอล่ะครับ”

         “อาตมาไม่ชอบโรงพยาบาล ขึ้นชื่อว่า “โรง” อาตมาไม่อยากเข้าสักอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม โรงพยาบาล โรงพัก โรงศาล หรือโลงศพ” ท่านพูดแล้วหัวเราะ

         “ผมก็ไม่ชอบครับ ไม่ชอบสี่โรงหลัง แต่โรงแรกชอบครับ นี่ก็กำลังจะเดินทางไปเชียงใหม่ ไปนอนโรงแรมที่นั่น” นายขุนทองยกถาดเครื่องดื่มขึ้นมาบริการ เป็นกาแฟร้อนส่งกลิ่นหอมฉุย

         “ทำไมเอามาแค่สองถ้วยล่ะ ท่านมากันสามคนนะ” เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงบอกหลานชาย

         “หลวงลุงตาฝาดมั้งฮะ ท่านมากันแค่สองคนเท่านั้น ก็หนูเห็นกะตานี่นา สงสัยจะต้องเปลี่ยนแว่นใหม่แล้วละหลวงลุงเนี่ย”

         “ตาข้าไม่ฝาดหรอกขุนทอง ไปชงกาแฟมาอีกถ้วยนึง แล้วไปบอกตุ๊กตาที่นั่งอยู่ในรถของท่านรัฐมนตรีมาที่นี่ บอกหลวงพ่อเชิญมาดื่มกาแฟก่อน” รัฐมนตรีสบตากับผู้ติดตามแล้วต่างก็ทำหน้างวยงง ก็อุตส่าห์ซ่อนแม่หนูคนนั้นไว้ในรถเบ๊นซ์ มีม่านลูกไม้ปิดกระจกอย่างมิดชิด เหตุไฉนท่านจึงมองเห็น มิหนำซ้ำรถก็จอดอยู่ลานวัดโน่น

         “ทำไมหลวงพ่อทราบล่ะครับ” รัฐมนตรีและผู้ติดตามถามขึ้นพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย

         “ทำไมอาตมาจะไม่ทราบล่ะ” ท่านพระครูถามยอกย้อน

         “เด็กของผู้กำกับเขา” รัฐมนตรีรีบโยนความผิดให้คนที่ทำหน้าที่ขับรถให้ ฝ่ายนั้นโยนกลับอย่างแยบยลด้วยการตอบว่า

         “ครับ เด็กของผมเอง ผมเป็นคนเลือกสรรมาให้ท่าน แล้วท่านก็โปรดปรานมากเลยครับ เป็นวาสนาของเด็ก”

         “ตอนนี้ ท่านรัฐมนตรีอายุเท่าไหร่” ท่านเจ้าของกุฏิถาม

         “หกสิบเอ็ดครับ”

         “แล้วแม่หนูคนนั้นล่ะ” พันตำรวจเอก รีบตอบแทนเจ้านายว่า

         “สิบหกครับ อายุเท่ากันนะครับหลวงพ่อ เพียงแต่ตัวเลขสับที่กัน ๖๑ กับ ๑๖” คนตอบหวังเอาใจเจ้านาย

         “แบบนี้ถ้าจะว่าเป็นลูกสาวก็คงจะอ่อนเกินไป เป็นหลานสาวกำลังพอเหมาะ ท่านเล่นข้ามสองรุ่นเลยนะ” ท่านพระครูสัพยอก

         “โธ่หลวงพ่อครับ ผมเป็นคนไม่ชอบขัดใจใคร เขาให้อะไรมาก็ต้องรับไว้หมด ถ้าหลวงพ่อจะว่าก็ต้องว่าผู้กำกับเขานะครับ”

         “เอาละ ๆ ไม่ต้องเถียงกัน ว่าแต่ว่า ที่มานี่มีธุระอะไรกับอาตมาหรือเปล่า”

         “มีครับ คือคุณหญิงเขาให้มากราบเรียนหลวงพ่อว่า วันที่ ๓๑ เดือนนี้ เขาจะมาเลี้ยงเพลครับ วันครบรอบวันเกิดเขา ทุกปีก็เลี้ยงฉลองกันที่บ้าน มาปีนี้เขาอยากจะเปลี่ยนสถานที่ เขาบอกมาคราวนั้นแล้วติดใจ หลวงพ่อเทศน์เก่ง” พอดีกับนายขุนทองขึ้นมารายงานว่าสาวน้อยแรกรุ่นดรุณีไม่ยอมมา คงจะอับอายขายหน้าที่เป็นเมียคนอายุคราวปู่คราวตา เป็นเมียลับ ๆ เสียด้วย! “งั้นผมต้องกราบลาละครับ” รัฐมนตรีเอ่ยลาเพราะห่วงว่าสาวน้อยจะรอนาน นายขุนทองตามไปส่งถึงรถ ไม่ได้คิดจะประจบประแจงรัฐมนตรี แต่เพราะติดใจในความงามของสาวแรกรุ่น หนุ่มวัยยี่สิบเอ็ดตั้งจิตอธิษฐานว่า

         “เจ้าประคู้ณ ชาติหน้าฟ้าใหม่ขอให้ขุนทองสวยอย่างนี้บ้างเถิ้ด”

            “คนสมัยนี้เขาให้ของกำนัลกันแปลก ๆ นะโยมนะ” ท่านพระครูพูดกับอาจารย์ชิต หลังจากรัฐมนตรีและผู้ติดตามลงไปแล้ว

         “ครับ แล้วพวกข้าราชการสมัยนี้ก็เอาใจเจ้านายกันเก่งเหลือเกิน บางคนรู้กระทั่งวันเกิดของเมียน้อยนาย แต่ของเมียตัวเองกลับไม่รู้”

         “ยังงี้ละมังอาตมาถึงได้ยินเขาแปลงกลอนของสุนทรภู่ให้เข้ากับยุคสมัย สุนทรภู่ท่านแต่งไว้ว่า “รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี” เขามาแปลงเสียใหม่เป็น “รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา รู้เลียขาเลียแข้งตำแหน่งดี” ท่านเจ้าของกุฏิพูดยิ้ม ๆ

 

            มีต่อ........๖๗