สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๗๓

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00073

๗๓...

         วันที่ ๑๕ สิงหาคม ที่จะถึงนี้เป็นวันคล้ายวันเกิดของท่านพระครู พระมหาบุญเล่าให้พระบัวเฮียวฟังว่า ในวันนั้น บรรดาศิษยานุศิษย์ผู้มีความเลื่อมใสศรัทธาและเคารพนับถือในท่านพระครูจะแสดงมุทิตาจิต ด้วยการบำเพ็ญบุญถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสามเณรตลอดจนแม่ชีและผู้มาปฏิบัติกรรมฐาน ณ วัดป่ามะม่วง

            พระบัวเฮียวกำลังกังวลว่าท่านจะถวายสิ่งใดแด่พระอุปัชฌาย์ เพื่อเป็นของขวัญวันเกิด จึงขอคำแนะนะจากพระมหาบุญ ผู้ซึ่งบังเอิญมาแวะเยี่ยม

            “ผมเองก็ไม่เคยมีประสบการณ์เรื่องของขวัญวันเกิดพระ แล้วเรื่องอย่างนี้ก็ไม่มีระบุไว้ในคัมภีร์เสียด้วย เลยไม่รู้จะให้คำแนะนำแก่คุณว่าอย่างไร” ผู้อาวุโสกว่าพูดออกตัว

            “แล้วทุกปีที่ผ่าน ๆ มา หลวงพี่ถวายอะไรเป็นของขวัญวันเกิดท่านครับ” ภิกษุวัยยี่สิบหกถาม

            “ผมไม่ได้ถวายเป็นการส่วนตัว หากถวายในนามพระทั้งวัด” พระมหาบุญตอบไม่ตรงประเด็นนัก

            “คือผมอยากทราบว่าหลวงพี่ถวายอะไรมากว่าที่จะอยากทราบว่าหลวงพี่ถวายในนามของใครน่ะครับ” ผู้อ่อนวัยกว่าท้วงอย่างสุภาพ

            “แล้วคุณคิดว่าพวกผมถวายอะไรท่านล่ะ”

            “อย่าให้ผมคิดเลยครับ เพราะผมมักจะคิดอะไรไม่ค่อยเหมือนชาวบ้านเขา” คนบวชได้เก้าเดือนว่า

            “ก็หัดคิดให้เหมือนซีคุณ หัดบ่อย ๆ อีกหน่อยก็เก่งไปเอง”

            “คงจะไม่หัดหรอกครับ เพราะใจจริงแล้วผมก็ไม่อยากจะเหมือนชาวบ้านเขา ก็เป็นพระนี่ครับ จะให้เหมือนชาวบ้านได้ยังไง” ภิกษุเชื้อสายญวนว่า

            “งั้นมาถามผมทำไม” พระมหาบุญชักฉิว

            “ผมอยากรู้น่ะซีครับ เพราะหากผมรู้ว่าคนอื่น ๆ เขาถวายอะไร ผมจะได้ไม่ถวายซ้ำกับเขา”

            “อย่าไปคิดอย่างนั้นเลยคุณ อย่าไปคิดว่าจะไปซ้ำกับคนอื่นหรือไม่ ส่งที่คุณควรคิดก็คือ คุณจะต้องรู้ก่อนว่าหลวงพ่อท่านเป็นใคร แล้วคุณก็จะได้ถวายสิ่งที่คู่ควรกับท่าน”

            “แล้วหลวงพ่อท่านเป็นใครล่ะครับ” พระบัวเฮียวถามซื่อ ๆ หากพระมหาบุญลงความเห็นว่าท่าน “เซ่อ”

            “อะไรกัน คุณอยู่ที่นี่มาตั้งเกือบปีแล้ว ยังไม่รู้หรือว่าหลวงพ่อท่านเป็นใคร”

            “แล้วหลวงพี่รู้หรือเปล่าครับ” แทนคำตอบ พระบัวเฮียวกับย้อนถาม

            “ทำไมผมจะไม่รู้”

            “กรุณาบอกผมเอาบุญเถิดครับ”

            “ตกลง ผมจะบอกให้เอาบุญ ฟังให้ดีนะ”

            “ครับ ผมกำลังตั้งใจฟัง”

            “ตั้งใจอย่างเดียวไม่พอหรอกนะคุณ ถ้าจะให้ดีต้องกำหนด “ฟังหนอ” ด้วย” พระบัวเฮียวจึงกำหนด “ฟังหนอ” ตามคำแนะนำของพระมหาบุญ ผู้ซึ่งเฉลยว่า

            “หลวงพ่อ ท่านเป็นพระสงฆ์ เพราะฉะนั้นคุณคิดว่าอะไรเล่าที่จะคู่ควรกับพระสงฆ์” คนฟังถูกถามอีก

            “พระสงฆ์หรือครับ เอ พระสงฆ์คู่ควรกับอะไรหนอ” ภิกษุหนุ่มมีท่าทีครุ่นคิด คิดอยู่ค่อนข้างนานจึงตอบ

            “รู้แล้ว นึกออกแล้วพระสงฆ์ก็ต้องคู่กับสีกา ใช่ไหมครับหลวงพี่ แต่เอ ถ้าผมถวายสีกาหลวงพ่อก็ต้องอาบัติน่ะซีครับ แล้วอีกอย่างน้ำหน้าอย่างผมจะไปหาสีกาที่ไหนมาถวายท่าน” พระบัวเฮียวยั่ว

            “เลอะเทอะใหญ่แล้วคุณบัวเฮียว ธาตุไม่ปกติหรือยังไง หรือว่านอนไม่เต็มอิ่ม” ผู้อาวุโสกว่าทักท้วงเพราะทนฟังไม่ไหว

            “ไม่ใช่ทั้งสองอย่างครับ”

            “เอาละ ๆ ผมจะเฉลยให้คุณฟังเดี๋ยวนี้ จะได้สิ้นเรื่องสิ้นราว ฟังนะ”

            “หลวงพี่อย่าเลียนแบบหลวงพ่อซีครับ”

            “เลียนแบบยังไง”

            “ก็หลวงพี่พูดว่า “เอาละ ๆ” น่ะครับ คำ ๆ นี้หลวงพ่อท่านผูกขาด” พระบัวเฮียวพาออกนอนเรื่องจนได้

            “นี่คุณบัวเฮียว ผมชักจะหมดความอดทนแล้วนะ”

            “หมดก็สร้างขึ้นมาใหม่ได้นี่ครับ เอ๊ะ นี่หลวงพี่โกรธผมหรือ อย่านาครับ เขาพูดกันว่า “โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า” ฉะนั้นจึงไม่ควรโกรธ กำหนดซีครับหลวงพี่ “โกรธหนอ โกรธหนอ” พระมหาบุญเกิดความรู้สึกว่าไม่สามารถทนพูดคุยกับพระบัวเฮียวต่อไปได้ จึงลุกขึ้นเตรียมตัวกลับกุฏิของตน

            “อ้าวหลวงพี่จะไปแล้วหรือครับ ยังพูดกันไม่ทันรู้เรื่องเลย”

            “เพราะอย่างนั้นน่ะสิผมถึงจะกลับ ผมจะจำใส่ใจไว้ว่าหากจะพูดกับใคร ก็ต้องดูคนที่พอจะพูดกันรู้เรื่อง จะได้ไม่เสียเวลาและอารมณ์” ท่านประชด

            “งั้นผมเลิกยั่วหลวงพี่แล้ว จะได้พูดกันรู้เรื่อง ให้ผมแก้ตัวอีกครั้งนะครับ” คนชอบยั่วยอมจำนน

            “ก็ได้ ผมจะให้โอกาสคุณอีกครั้งเดียวเท่านั้นนะ เพราะผมเสียเวลามามากแล้ว”

            “ครับ ผมให้สัญญา หลวงพี่ตอบผมหน่อยซีครับ ว่าอะไรทีคู่ควรกับพระสงฆ์”

            “ก็ดอกไม้ยังไงล่ะ คุณไม่เห็นหรอกหรือ เวลาที่เราบูชาพระรัตนตรัย เราจะใช้ธูป เทียน และดอกไม้เป็นสัญญลักษณ์แทน พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ถึงแม้สิ่งเหล่านี้จะเป็นเรื่องสมมุติ หากก็เป็นการสมมุติที่มีเหตุผล

            จากการอ่านคัมภีร์ ทำให้ผมทราบว่า ครั้งพุทธกาล เขานิยมใช้ดอกไม้และของหอมเป็นเครื่องสักการะองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า อย่างเช่น พระจุนทเถระ ผู้เป็นน้องชายของพระสารีบุตร เมื่อท่านจะเข้าเฝ้าพระตถาคตก็จะสั่งช่างให้นำดอกไม้สดมาประดิษฐ์ตกแต่งอย่างสวยงาม คลุมด้วยตาข่ายที่บรรจงร้อยด้วยดอกมะลิ จากนั้นจึงนำไปถวายองค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์”

            “ขอประทานโทษนะครับหลวงพี่ คือผมอยากทราบว่าองค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ หมายถึงพระพุทธเจ้าใช่ไหมครับ”

            “ถูกแล้ว พระพุทธเจ้าทรงมีหลายพระนาม เช่น “พระสมณโคดม” “พระบรมโลกเชษฐ์” “พระชินสีห์” “พระผู้พิชิตมาร” “พระสัพพัญญู” “พระตถาคต” ผมจำไม่ได้หมดหรอก ถ้าคุณอยากรู้วันหลังผมจะหาหนังสือมาให้”

            “ขอบคุณครับ พระจุนทะเถระต่อเถิดครับ”

            “ตกลง เล่าต่อก็ได้ คืออยู่มาวันหนึ่ง ท่านก็นำดอกไม้ของหอมซึ่งตกแต่งแล้วอย่างประณีตสวยงาม มาถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงตรัสบุพพกรรม ซึ่งหมายถึงการกระทำแต่ครั้งอดีตของพระจุนทเถระในท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ว่า

            พระจุนทเถระมิใช่จะถวายดอกไม้ของหอมแด่พระพุทธเจ้าเฉพาะในชาติปัจจุบันนี้เท่านั้น ในอดีตชาติท่านก็ได้เคยถวายดอกไม้ของหอมแด่พระพุทธเจ้าพระองค์อื่น ๆ มาแล้ว อานิสงส์แห่งการกระทำนั้น ๆ ทำให้ท่านได้สวรรค์สมบัติ ๗๔ ชาติ เป็นพระราชา ๓๐๐ ชาติ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗๕ ชาติ จากนั้นจึงมาเป็นพระจุนทเถระ”

            “แต่อานิสงส์ที่ถวายดอกไม้แด่พระพุทธเจ้าในชาติที่เป็นพระจุนทเถระคงจะไม่เหมือนเดิมแล้วนะครับ เพราะท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว คงไม่ต้องการสวรรค์สมบัติอีก”

            “แหม คุยกันมาตั้งนาน คุณเพิ่งจะมาแสดงความฉลาดปราดเปรื่องตอนนี้นี่เอง ผมนึกว่าคุณไม่มีสิ่งนี้อยู่ในตัวเสียอีก” พระบัวเฮียวไม่ทราบชัดว่าถูกชมหรือถูกตำหนิกันแน่ จึงถาม

         “ที่ผมพูดมานี้ถูกหรือเปล่าครับ”

         “ถูกซี ผมถึงว่าคุณฉลาดไงล่ะ จริงอย่างที่คุณว่า เมื่อพระจุนทเถระท่านได้โลกุตตระสมบัติเสียแล้ว โลกียสมบัติก็หมดความหมาย เปรียบเหมือนซากสัตว์เน่าเหม็นย่อมเป็นอาหารอันโอชะของนกแร้ง หากเป็นสิ่งน่าสะอิดสะเอียนสำหรับพญาหงส์” พระมหาบุญเปรียบเทียบไม่ตรงประเด็นนัก หากพระบัวเฮียวผู้ซึ่งแน่ใจแล้วว่าท่านชม จึงชมตอบว่า

         “โอ้โฮ หลวงพี่ก็คารมคมคายไม่เบาเหมือนกัน”

         “ตกลงคุณตัดสินใจได้หรือยังว่า จะถวายอะไรเป็นของขวัญวันเกิดหลวงพ่อท่าน” คนถูกชมรู้สึกเขินจึงวกกลับมาพูดเรื่องเดิม

         “ได้แล้วครับ ผมก็ต้องถวายดอกไม้ซีครับ แต่จะเป็นดอกอะไรนั้นต้องขออุบไว้ก่อน รับรองว่าไม่ใช่ดอกมะลิแน่ เพราะผมไม่ชอบทำอะไรเหมือนคนอื่น”

         “ดีแล้วละคุณ แต่ก็หวังว่าคุณคงไม่อุตริเอาดอกอุตพิตถวายท่านนะ ต้องบอกไว้ก่อนเพราะคุณมักจะทำอะไรแผลง ๆ อยู่เรื่อย”

         “รับรองครับ โถใครจะไปทำนอกเสียจากว่าสติฟั่นเฟือน”

         “ถ้าอย่างนั้นผมก็ขออนุโมทนาล่วงหน้า หลวงพ่อท่านเคร่งนะ ไม่เคยติดในลาภสักการะอันทำให้เสียความเป็นผู้ทรงศีล เวลาที่ท่านได้รับนิมนต์ไปงานวันเกิดพระด้วยกัน ท่านก็มักจะนำแจกันดอกไม้สดไปถวาย ในทรรศนะของผมเห็นว่า ดอกไม้สดทำให้เกิดความรู้สึกสดชื่น แล้วยังเป็นอุปกรณ์สอนไตรลักษณ์ได้อีกด้วย”

            “ผมไม่เข้าใจครับ หลวงพี่กรุณาขยายความหน่อยเถิดครับ”

         “ก็แสดงให้เห็นความไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ และปราศจากตัวตนที่เที่ยงแท้ อย่างที่พูดกันติดปากว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นยังไง”

         “อ้อ งั้นผมก็เข้าใจแล้วครับ คือ ดอกไม้เมื่อมันยังสดก็ดูสวยงาม ครั้นเหี่ยวเฉาโรยราก็หาความสวยงามไม่ได้ เหมือนบุรุษและสตรีเมื่อยังอยู่ในวัยหนุ่มวัยสาวก็ดูสดชื่นเปล่งปลั่ง ครั้นพอแก่เฒ่าก็เฉาเหี่ยวดุจเดียวกับดอกไม้ แสดงให้เห็นความไม่เที่ยงแท้ของสังขาร เพราะฉะนั้นบุคคลจึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นในรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส อย่างนั้นใช่ไหมครับ”

         “ก็คงใช่ เอาเถอะ คุยกันนานแล้ว ผมเห็นจะต้องกลับไปปฏิบัติที่กุฏิของผมละ” พระมหาบุญกลับไปแล้ว พระบัวเฮียวจึงเริ่มปฏิบัติบ้าง

         วันอาทิตย์ แรมสิบค่ำ เดือนแปด เวลาประมาณยี่สิบสองนาฬิกา ขณะที่นายสมชายกำลังไขกุญแจประตูด้านหลังของกุฏิ ก็ได้ยินเสียงเรียกชื่อเขา “สมชายใช่ไหม หลวงพ่ออยู่หรือเปล่า” เมื่อชายหนุ่มเหลียวหลังไปดูก็พบว่าเป็นคหบดีมากับภรรยาและบุตรชายทั้งสาม แต่ละคนสวมชุดขาวราวกับจะมาเข้ากรรมฐาน เขายกมือไหว้สองสามีภรรยา ขณะที่เด็กหนุ่มสามคนยกมือไหว้เขา

         “ทำไมมาเสียดึกเชียวครับ” ชายหนุ่มถาม

         “มาแต่วันเกรงจะไม่พบหลวงพ่อ ได้ข่าวว่าท่านรับนิมนต์ไปข้างนอกแทบทุกวัน จริงหรือเปล่า”

         “ครับ บางทีคนก็นิมนต์ไปในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง” เขาหมายถึงนายแพทย์สมเจตนา ที่หลอกนิมนต์ท่านไปเปิดป้ายสำนักโสเภณี!

         “ต่อไปนี้ท่านบอกถ้าใครมานิมนต์ ท่านจะต้องสอบถามก่อนว่างานอะไร แล้วท่านก็จะพิจารณาว่าสมควรไปหรือไม่ เพราะงานท่านมากขึ้นทุกวัน แต่รับแขกอยู่ที่กุฏิก็รับแทนไม่หวาดไหว”

         “นี่แหละ เหตุผลที่ผมไม่มาตอนกลางวันก็เพราะไม่อยากรอคิวด้วย เลยเสี่ยงมาตอนกลางคืน คิดว่ายังไง ๆ ก็ต้องพบท่าน ฤดูนี้เป็นฤดูเข้าพรรษา โอกาสที่ท่านจะไปค้างแรมที่อื่นก็ไม่มี นอกเสียจากว่าจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

         “เชิญข้างในดีกว่าครับ” เขาเชิญคหบดีและครอบครัวเพราะยืนคุยกันข้างนอกมานาน เข้ามาแล้วชายหนุ่มจึงจัดการเปิดไฟภายในกุฏิ นำเครื่องดื่มร้อนมาบริการแขก เสร็จแล้วจึงขึ้นไปกราบเรียนท่านพระครู

         “ลงไปบอกเขาว่าอีกหนึ่งชั่วโมงฉันจะลงไป” ท่านเจ้าของกุฏิบอกเขาโดยไม่ละสายตาจากงานที่ทำ

         “ประเดี๋ยวเขาจะไม่กลับดึกเกินไปหรือครับ” ชายหนุ่มแสดงความห่วงใย

         “ดึกแน่ละเธอ เพราะฉันต้องการให้เขากลับหลังเที่ยงคืนไปแล้ว”

         “ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นครับ”

         “เพราะถ้าไปก่อนเที่ยงคืนจะต้องตายหมดทั้งครอบครัว เอาละ เธอลงไปบอกเขาก็แล้วกันว่า ฉันสั่งให้ปฏิบัติกรรมฐานหนึ่งชั่วโมง”

         “แล้วหลวงพ่อจะให้ผมบอกเขาหรือเปล่าครับว่า หากกลับไปก่อนเที่ยงคืนจะต้องตายทั้งครอบครัว”

         “หากเขาถามก็บอกไปตามนี้”

         “ครับ” เมื่อชายหนุ่มลงมาแจ้งให้คนทั้งห้าทราบ พวกเขาก็มิได้ซักถามอะไร ต่างพากันปฏิบัติกรรมฐานตามที่ท่านสั่ง นายสมชายรู้สึกแปลกใจด้วยคิดว่าอย่างไรเสียก็จะต้องถูกซักถาม ชายหนุ่มมิรู้ดอกว่า “ผู้เข้าถึงธรรมย่อมเป็นผู้ว่านอนสอนง่าย”

         เวลายี่สิบสามนาฬิกา ท่านพระครูจึงลงรับแขกรอบดึกอันเป็นรอบที่ไม่มีในตาราง โชคยังดีที่คนจัดตารางหลับปุ๋ยไปนานแล้ว มิฉะนั้นก็คงมีเรื่องมีราวให้ท่านเจ้าของกุฏิต้องรับรู้อีก กราบท่านพระครูแล้วหนุ่มต้อมจึงเอ่ยขึ้นว่า “หลวงตาสบายดีหรือครับ ผมรู้สึกว่าหลวงตาดูซูบไป คงจะงานหนักมากใช่ไหมครับ”

         “แต่หลวงตาชินกับมันแล้วละหนู ชีวิตนี้หาความสุขสบายไม่ได้เลย หลวงตาเกิดมาใช้กรรมนะ ใช้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหมด” ภิกษุวัยห้าสิบเศษตอบ

         “แล้วอีกนานไหมครับถึงจะหมด” หนุ่มต่อถามบ้าง

         “ยังตอบไม่ได้หรอกหนู หลวงตาก็อยากจะใช้ให้มันหมด ๆ แต่กรรมของหลวงตามีมากเหลือเกิน ทยอยกันมาให้ชดใช้อยู่เรื่อย ๆ เมื่อปลายเดือนกุมภาก็ใช้หนี้ที่ไปหักขานก หลวงตาเลยมีอันต้องตกบันไดขาหัก ไปไหนมาไหนไม่ได้อยู่เดือนเต็ม ๆ ช่วงนั้นก็มีอาจารย์จากเชียงใหม่มาใช้กรรมที่นี่เหมือนกัน เพิ่งกลับไปก่อนเข้าพรรษาไม่กี่วัน ตอนนี้บวชเป็นพระอยู่วัดกู่คำ” ท่านหมายถึงอาจารย์ชิตผู้ซึ่งเปลี่ยนใจขอกลับไปบวชอยู่วัดใกล้บ้านหลังจากทราบว่าอีกสามปีภรรยาจะตายจาก

         สนทนาปราศรัยกันพอสมควรแล้ว เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงจึงถามจุดประสงค์ของการมา คหบดีตอบว่า

         “ผมพาครอบครัวมาทำบุญครับ คราวก่อนผมถวายปัจจัย แต่หลวงพ่อไม่ยอมรับ เพราะเงินที่ได้มาไม่บริสุทธิ์ แต่คราวนี้เรามีปัจจัยที่บริสุทธิ์มาถวายครับ”

         “ไปได้มาจากไหนหรือ” ถามอย่างไม่ยินดียินร้ายตามวิสัยของสมณะ

         “ถูกรางวัลที่หนึ่งครับ นายต่อเขาซื้อให้เป็นของขวัญวันเกิดผม พอถูกเขาก็เสนอแนะว่าน่าจะถวายหลวงพ่อครึ่งหนึ่ง คนอื่น ๆ พลอยเห็นดีเห็นงามไปด้วย ผมจึงนำมาถวายหลวงพ่อสองแสนห้าหมื่นบาทครับ” บิดาของนายต่อกราบเรียนท่านพระครู เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงนึกย้อนไปถึงเสียงที่ได้ยิน ในวันอธิษฐานจิตช่วยนายสมชาย จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลาสิบห้าวันพอดี

         “อาตมาขออนุโมทนาในกุศลจิตที่โยมและครอบครัวได้ร่วมใจกันมาบำเพ็ญบุญในครั้งนี้ แต่ว่าเงินจำนวนนี้ โยมระบุไปหรือเปล่าว่า จะให้อาตมานำไปใช้ทำอะไร”

         “ไม่ได้ระบุค่ะ แล้วแต่หลวงพ่อจะนำไปใช้อะไรก็ได้ พวกเราขอถวายเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวของหลวงพ่อค่ะ” นางกิมเอ็งกราบเรียน

         “ถ้าอย่างนั้น อาตมาก็จะขออนุญาตนำเงินจำนวนนี้ไปใช้ในการอนุเคราะห์คนที่เขามีบุญคุณกับอาตมา เขากำลังต้องการเงินจำนวนห้าหมื่นบาท ส่วนที่เหลืออีกสองแสนอาตมาจะเก็บไว้เป็นกองทุนสร้างหอประชุมเพื่อให้ญาติโยมใช้เป็นที่ปฏิบัติกรรมฐาน เคยมีเศรษฐีสี่คนเขามาพบกันที่นี่โดยบังเอิญ และก็มีจุดประสงค์เดียวกัน คือจะมาสร้างหอประชุมถวายวัดนี้ เสร็จแล้วจะเป็นยังไงก็ไม่ทราบ เกิดเปลี่ยนใจไม่สร้างแล้ว” ท่านหมายถึงเศรษฐีสี่คนที่ท่านตั้งสมญาว่า “จตุรชัย”

         “แบบนี้ก็บาปซีครับหลวงตา รับปากกับพระแล้วมากลับคำ” หนุ่มติ๋งว่า

         “ก็ไม่เชิงกลับคำหรอกหนู แต่มันมีเหตุปัจจัยอื่นมาทำให้เขาลืม อาจจะมัวยุ่งอยู่กับเรื่องธุรกิจการค้า” ท่านพระครูพูดปกป้องคนทั้งสี่

         เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงสนทนาอยู่กับคหบดี และ ครอบครัวจนถึงยี่สิบสี่นาฬิกา จึงอนุญาตให้พวกเขากลับ

         “วันนี้ดึกหน่อยนะ เอาละ แล้วโยมก็จะรู้เองว่า เหตุใดอาตมาจึงหน่วงเหนี่ยวโยมไว้ไม่ให้ไปก่อนเที่ยงคืน”

         คหบดีและครอบครัวลุกออกไปแล้ว ท่านพระครูจึงมอบเงินให้นายสมชายห้าหมื่นบาทตามสัญญาที่เคยให้ไว้ ชายหนุ่มกราบท่านสามครั้งด้วยความซาบซึ้ง อดมิได้ที่จะเปรียบเปรยว่า

         “หลานสะใภ้หลวงพ่อถูกรางวัลที่หนึ่ง ซื้อรองเท้ามาถวายแค่แปดสิบบาท นี่เขาเป็นคนอื่นกลับถวายตั้งครึ่ง” เขาหมายถึง ครึ่งของห้าแสน ท่านพระครูจำต้องพูดปกป้องภรรยาของหลานชายว่า

         “มันไม่เหมือนกันหรอกนะสมชาย รายนั้นเขาจน แต่รายนี้เขามีเป็นร้อย ๆ ล้าน” ท่านมิได้พูดต่อถึงที่มาของเงินเหล่านั้น คนชั่วที่กลับตัวเป็นคนดีสมควรได้รับการสรรเสริญ ทว่าคนดีที่กลับกลายเป็นคนชั่วนี้สิน่าตำหนินัก

         เมื่อคหบดีขับรถพาครอบครัวมาถึงทางแยกเข้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็พบรถตำรวจทางหลวงเปิดไฟฉุกเฉินอยู่กลางถนน รถหลายคนต้องจอดรอ นายต้อมอาสาลงไปสืบดูได้ความว่า เกิดอุบัติเหตุรถเก๋งชนกับรถบรรทุก คนที่อยู่ในรถเป็นผู้ชายสี่คน หญิงหนึ่งคน พากันเสียชีวิตทั้งหมด คนทั้งห้ามีความรู้สึกเหมือนตายแล้วเกิดใหม่ แล้วก็รู้เดี๋ยวนั้นว่า เหตุใดท่านพระครูจึงให้พวกเขาออกจากวัดหลังเที่ยงคืนไปแล้ว...

 

            มีต่อ........๗๔