สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๗๔

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00074

๗๔...

            เวลาสิบเอ็ดนาฬิกา ท่านพระครูเชื้อเชิญบรรดา “ผู้มีใบหน้าอันเปื้อนทุกข์” ไปรับประทานอาหารที่โรงครัว ตัวท่านเองกำลังจะขึ้นไปตอบจดหมายยังกุฏิชั้นบน เถ้าแก่เส็งกับคนขับแท็กซี่ประคองชายสูงอายุร่างผอมบางเข้ามาในกุฏิ คนทั้งสามกราบท่านเจ้าของกุฏิสามครั้ง แล้วคนที่อาวุโสที่สุดในที่นั้นก็กล่าวขึ้นว่า

            “หลวงพ่อครับ จำเถ้าแก่บ๊ก น้องชายผมที่ขายทองอยู่เยาวราชได้ไหมครับ หลวงพ่อเคยเล่าว่าเคยพาลูกศิษย์เข้าไปซื้อทอง” ท่านพระครูนึกอยู่ประเดี๋ยวหนึ่งจึงตอบว่า

            “จำได้สิ แต่อาตมาไม่พาพวกเขาเข้าไปซื้อนะ เขาพากันเข้าไปเอง อาตมายืนรออยู่หน้าร้าน แล้วเถ้าแก่เจ้าของร้านเขานิมนต์เข้าไปดื่มน้ำชาแถมถวายเงินมาสร้างโบสถ์อีกสองพันบาท” ท่านเล่าเหตุการณ์เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนโน้น

            “เป็นไง เดี๋ยวนี้โยมเตี่ยสบายดีหรือ” ท่านหมายถึงเถ้าแก่บ๊กผู้ซึ่งพูดกับท่าน ในสมัยที่ท่านเป็นเด็กว่า “วังนี้ลื้อเลียกอั๊วะไอ้เจ๊กบ้า วังหน้าลื้อต้องเลียกอั๊วะว่าเตี่ย” ยังจำเพลงโปรดที่ท่านแต่งขึ้นล้อเลียนฝ่ายนั้นได้ “เจ๊กบ๊กตกน้ำตาย เมียร้องไห้เสียดายเจ๊กบ๊ก”

            “โยมเตี่ยไหนครับ” เถ้าแก่เส็งถามงง ๆ เพราะหากท่านจะหมายถึงบิดาของเขาก็คงเป็นไปไม่ได้ ในเมื่อเตี่ยของเขาได้ลาจากโลกนี้ไปนานนับสิบปีแล้ว

            “ก็โยมเตี่ยของอาตมาไงล่ะ โยมเตี่ยบ๊กน่ะ”

            “อ๋อ นี่ไงครับ ผมพามากราบหลวงพ่อด้วย” ท่านเจ้าของกุฏิเพ่งพิศดูบุรุษร่างผอมบางตรงหน้า จึงพบว่าเขาไม่ได้ผอมอย่างเดียว หากซูบซีดไร้ชีวิตชีวา ไม่ต่างไปจากซากศพ ภาพผู้ชายวัยกลางคนร่างกำยำล่ำสันที่ท่านคุ้นหูคุ้นตาในวัยเด็กไม่มีหลงเหลืออยู่ในตัวบุรุษผู้นี้

            “โยมเตี่ยทำไมถึงผอมอย่างนี้ล่ะ” ท่านทัก

            “ท่างไม่ต้องเลียกอั๊วะว่าเตี่ยก็ล่าย เลียกไอ้เจ๊กบ๊กอย่างเลิมก็ล่าย” บุรุษร่างผอมบางพูดเสียงแหบเครือ

            “หมอเขาบอกเป็นมะเร็งลำไส้ครับหลวงพ่อ เขาไม่รับรักษาแล้ว ผมก็เลยชวนมาหาหลวงพ่อ ยังไง ๆ ก็ยังดีกว่าอยู่กรุงเทพฯ หมอเขาให้เวลาอีกสามเดือน ผมก็เลยเกิดความคิดว่าในช่วงสามเดือน ถ้าเขามาอยู่วัดก็อาจจะได้บุญกุศลติดตัวไปภพหน้า ไม่มากก็น้อย” คนเป็นพี่ชายเล่า

            “แล้วโยมเตี่ยไม่คิดถึงลูกหลานหรือ” ท่านเจ้าของกุฏิทดสอบสภาวะทางจิตใจคนป่วย

            “คิกถึงก็ต้องตักใจ ทำไงล่ายล่ะท่าง คงเลาเกิกเลี้ยวก็ต้องตาย อั๊วะทำงางหนักมาตาหลอกชีวิก เหลือเวลาอีกแค่สามเลือนก็ขอมาอยู่กับพะ ขอยึกเอาพะรักตะนะตัยเป็งที่พึ่ง เวลาตายจะล่ายตายตาหลับ ห่วงลูกหลานเลี้ยวตายตาไม่หลับ” น้องชายเถ้าแก่เส็งว่า

            “ดีจริงโยมเตี่ยคิดได้ยังงี้ดีมาก ๆ เลย เราต้องยึดพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึก เพราะนั่นเป็นที่พึ่งที่แท้จริง ดังพุทธวจนะว่า” ท่านอัญเชิญพุทธพจน์มากล่าวให้คนทั้งสามฟังดังนี้

          มนุษย์เป็นอันมาก เมื่อเกิดมีภัยคุกคามแล้ว ก็ถือเอาภูเขาบ้าง ป่าไม้บ้าง อารามและรุกขเจดีย์บ้าง เป็นสรณะ นั่นมิใช่สรณะอันเกษรมเลย นั่นมิใช่สรณะอันสูงสุด เขาอาศัยสรณะนั่นแล้วย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้

          ส่วนผู้ใดถือเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะแล้ว เห็นอริยสัจจ์ คือความจริงอันประเสริฐสี่ ด้วยปัญญาอันชอบ คือเห็นความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความก้าวล่วงทุกข์เสียได้ และหนทางมีองค์แปดอันประเสริฐเครื่องถึงความระงับทุกข์

          นั่นแหละเป็นสรณะอันเกษม นั่นเป็นสรณะอันสูงสุด เขาอาศัยสรณะนั้นแล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้

            “งั้งอั๊วะคิดถูกเลี้ยวใช่ไหมที่มาหาท่าง อั๊วะซำบายเลี้ยว ไม่กัวตายอีกต่อไปเลี้ยว” เถ้าแก่บ๊กกล่าวอย่างยินดี ท่านพระครูออกแปลกใจที่เห็นเขาไม่ทุรนทุรายเช่นคนที่เป็นมะเร็งโดยทั่ว ๆ ไป จึงถามขี้นว่า

            “โยมเตี่ยไม่ปวดหรือ อาตมาเห็นคนเป็นมะเร็ง เขาปวดร้อง โอย ๆ กัน แทบทั้งนั้น”

            “ปวกซีท่าง ทำไมจะไม่ปวก แต่ที่อั๊วะไม่แสดงอากางทุรงทุรายเพราะท่างช่วยอั๊วะ”

            “อาตมาช่วยโยมเตี่ยอย่างไรหรือ” ท่านเจ้าของกุฏิไม่เข้าใจ

            “ช่วยซี ท่านช่วยอัวะมากจริง ๆ อั๊วะถึงอยากมาตายกะท่าง เฮียเส็งลื้อช่วยอธิบายให้ท่างฟังหน่อย อั๊วะเหนื่อย..” เขายั้งปากไว้ท่าน ไม่เช่นนั้นคำว่า “ชิกหายเลย” ก็จะต้องเล็ดอดออกมา ตั้งแต่พี่ชายสอนกรรมฐานให้ เขาลดละ “ผรุสวาจา” ลงไปได้โขทีเดียว

            “คืออย่างนี้ครับหลวงพ่อ” เถ้าแก่เส็งอธิบาย

            “ตอนที่เขาป่วย ผมก็หมั่นไปเยี่ยมเขา ตอนนั้นเขามีอาการทุรนทุรายมากร้องโอดโอยจนถูกนางพยาบาลดุเอาบ่อย ๆ ลูกหลานไปเยี่ยมก็ด่าจนพวกเขาไม่ไปเยี่ยม พอพวกเขาไม่ไปก็ด่าอีก ผมก็เลยค่อย ๆ สอนกรรมฐานให้วันละเล็กละน้อย เริ่มตั้งแต่ให้ฝึกกำหนด “ปวดหนอ ปวดหนอ” เขาก็พยายามทำตาม พออาการปวดทุเลาลง ผมก็ให้เขาหัดกำหนด พอง-ยุบ เรียกว่าเรียนกรรมฐานบนเตียงคนไข้เลยแหละครับ เขาก็ทำตามและก็รู้สึกดีขึ้นเรื่อย ๆ ลูกหลานมาเยี่ยมก็เลิกด่า

            เขาอยู่โรงพยาบาลสองเดือน หมอเจ้าของไข้ก็มากระซิบกับผมว่า ควรจะกลับไปอยู่บ้านเพราะถึงอย่างไรก็ไม่หาย ไส้เน่าแล้ว ผ่าตัดก็คงไม่ได้ผล ผมก็มาถามเขาว่าสมมุติว่าเขาจะมีชีวิตอยู่อีกสามเดือน เขาอยากจะทำอะไร เขาตอบทันทีว่าอยากไปอยู่วัดป่ามะม่วง ผมก็เลยไปขอให้นายสุขเขาพามานี่แหละครับ”

            “ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ใช่อาตมาช่วยหรอก พี่ชายของโยมเตี่ยต่างหากที่ช่วย” ท่านเจ้าของกุฏิไม่ยอมรับความดีความชอบ

            “ท่างนั่งแหละช่วย เพาะถ้าท่างไม่สองกำมะถางให้เฮียเส็ง เฮียเส็งเขาก็มาสองอั๊วะไม่ล่าย จริงล่ะป่าว” เถ้าแก่บ๊กพยายามยัดเยียดความดีให้ท่านพระครู

            “เอาละ จริงก็จริง อาตมาขออนุโมทนากับโยมเตี่ยด้วย ยังไง ๆ โยมเตี่ยก็ไม่ไปอบายภูมิแล้ว” ท่านเจ้าของกุฏิแสดงมุทิตาจิตต่อเขา  เพื่อความแน่ใจว่าน้องชายเถ้าแก่เส็งจะต้องตายในอีกสามเดือนข้างหน้าจริงดังที่แพทย์บอกหรือไม่ ท่านจึงใช้ “เห็นหนอ” เข้าตรวจสอบและก็ได้พบว่า บุรุษนี้มี “ทุนเดิม” อยู่หกสิบเปอร์เซ็นต์แล้ว เหลืออีกสี่สิบเปอร์เซ็นต์ ท่านจะจัดการให้เถ้าแก่เส็งช่วยสิบเปอร์เซ็นต์ด้วยการเจริญกรรมฐาน แล้วแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลให้ ส่วนอีกสามสิบเปอร์เซ็นต์ ท่านจะเข้า “ผลสมาบัติ” สามวันสามคืนช่วย “ดีเหมือนกัน เราจะได้ชดใช้กรรมที่เคยทำไว้กับแกสมัยที่เราเป็นเด็ก” เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงคิดในใจ รู้สึกยินดีที่จะได้ชดใช้ “หนี้” ที่ทำไว้แต่ครั้งอดีต

            “โยมเตี่ย อาตมาถามจริง ๆ เถอะ ว่ากลัวตายหรือเปล่า”

            “ไม่กัว อั๊วะไม่กัวตาย แต่ก็ไม่อยากตาย” คนเป็นมะเร็งลำไส้ตอบ

            “แล้วถ้าสมมุติว่าโยมเตี่ยจะมีอายุยืนต่อไปอีกห้าปี โยมเตี่ยจะทำอะไร”

            “อั๊วะจาปะติบักกำมะถางเหมืองเฮียเส็งเขา จะปาติบักทุกวัง”

            “แล้วสมมุตินะ สมมุติอีกว่ามีเทวดาจะมาต่ออายุให้เตี่ยอยู่ตอไปได้อีกห้าปี เตี่ยจะเอาไหม”

            “เทวาลาหน้าไหนอีจามาต่อให้อั๊วะล่ะท่าง แต่ถ้ามีนะ อั๊วะจะให้เงิงอีห้าหมื่ง คิกชาเหลี่ยปีละหมึ่ง ถ้าอีกต่อล่ายสองปีก็ให้อีสองหมื่ง”

            “แหม เตรียมให้สินบนเชียวนะโยมเตี่ย แต่เอาเถอะ อาตมาจะบอกเทวดาเขาว่าไม่ให้คิดเงิน ให้ต่อให้ฟรี อยากรู้ไหมว่าเทวดาองค์นั้นอยู่ที่ไหน”

            “ไม่ลู้”

            “นี่ไง เทวดาองค์นี้ไง” ท่านชี้เถ้าแก่เส็ง “วิธีการ” ตามที่ “เห็นหนอ” รายงาน เถ้าแก่บ๊กดีใจเสียนัก มีความรู้สึกเหมือนโรคภัยไข้เจ็บมลายหายไปในบัดดลนั้น เขาก้มกราบท่านเจ้าของกุฏิด้วยความซาบซึ้งใจ

            “ตกลงโยมเถ้าแก่อยู่ที่นี่เจ็ดวันนะ อยู่เป็นเทวดาช่วยโยมเตี่ยเขาหน่อย” ท่านบอกเถ้าแก่เส็ง

            “ยินดีครับหลวงพ่อ แต่ผมคงจะต้องไปเอาเสื้อผ้า ไม่ได้เอาชุดขาวมาเพราะคิดว่าส่งเถ้าแก่บ๊กเขาแล้วก็จะกลับ”

พี่ชายคนป่วยว่า

            “ไม่มีปัญหาโยม ไม่มีปัญหา ประเดี๋ยวเบิกของวัดไปใช้ จะต้องกลับไปให้เสียเวลาทำไม แล้วพวกยาสีฟัน แปรงสีฟัน ประเดี๋ยวจะให้ลูกศิษย์เขาจัดการหามาให้”

            “ครับ อย่างนั้นก็ได้ครับ งั้นผมจะฝากนายสุขไปบอกคุณกิมง้อ เขาจะได้ไม่ห่วง” เขาหมายถึงคนขับแทกซี่มาด้วย นายสุขจึงได้โอกาสกราบเรียนท่านว่า

            “หลวงพ่อจำผมได้ไหมครับ ที่เคยมากับเถ้าแก่ครั้งที่แล้ว เดี๋ยวนี้ผมสบายแล้วครับหลวงพ่อ หนี้สินก็จัดการใช้คืนเถ้าแก่เขาหมดแล้ว รถแท็กซี่ที่ใช้ขับหาเงินทุกวันนี้ก็เป็นของตัวเอง ไม่ต้องเช่าเขาแล้ว ผมดีใจ ภูมิใจที่เป็นพลเมืองดี หากินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ถ้าเถ้าแก่เอาผมเข้าคุกตั้งแต่ตอนนั้น ผมก็คงกลายเป็นไอ้มหาโจรไปแล้ว คุกไม่ได้ช่วยให้คนเป็นคนดีนะครับหลวงพ่อ เท่าที่ผมเคยเห็น คนดี ๆ ไปติดคุก ออกมา กลายเป็นคนชั่ว แล้วคนชั่วไปติดคุก ออกมายิ่งชั่วหนักเข้าไปอีก ผมว่ากิจการคุกนี่เลิกได้แล้วนะครับ สู้เอาคนชั่วมาเข้าวัดดีกว่า ยังพอจะมีโอกาสกลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดีได้บ้าง” คนขับแท็กซี่พูดเสียยืดยาวสมกับที่มีโอกาสได้พูด ท่านพระครูชอบอกชอบใจกับข้อเสนอแนะของเขา จึงชมว่า

            “เอ้อ เข้าที ความคิดของโยมเข้าที ถ้าอาตมามีโอกาสได้คุยกับท่านนายก จะลองเสนอท่านดูนะ” ท่านพูดยิ้ม ๆ

            “นี่ท่านข้าวกันมาหรือยัง คุยกันจนเพลิน ไปรับประทานอาหารกันเสียก่อนดีกว่านะ เชิญที่โรงครัวเลย สมชายมานี่หน่อย” ท่านเรียกหาศิษย์วัด

            “พาโยมเขาไปรับประทานอาหาร เสร็จแล้วพาไปหาที่พัก ให้พักห้องเดียวกันนะ จะได้ช่วยดูแลคนป่วย ให้โยมเถ้าแก่ช่วยดูแลโยมเตี่ย” ท่านจำต้องอธิบายให้แจ่มแจ้ง มิฉะนั้นศิษย์วัดก็จะเข้าใจว่าตัวเขาจะต้องไปนอนกับบุรุษทั้งสองด้วย “ขาดเหลืออะไรก็บอกเด็กเขานะโยม” ท่านบอกสองพี่น้อง

            “ขอบพระคุณครับหลวงพ่อ” เถ้าแก่เส็งพูดพร้อมกับยกมือไหว้หนึ่งครั้ง

            “ผมเลยถือโอกาสกราบลาหลวงพ่อเลยนะครับ” คนขับแท็กซี่กล่าวลา หากเขาอิ่มข้าวแล้วมาลาก็จะต้องรอคิวอีกนาน

            “เจริญพร แล้วเมื่อไหร่จะมาเข้ากรรมฐานล่ะ” ท่านเจ้าของกุฏิถาม

            “ผมปฏิบัติทุกวันเลยครับ เรียนมาจากเถ้าแก่” เขาบอก

            “ผมจะเปิดบ้านเป็นสำนักปฏิบัติแล้วนะครับหลวงพ่อ เดี๋ยวคนโน้นมาให้สอน เดี๋ยวคนนี้มาให้สอน” คนชื่อเส็งรายงาน

            “ดี ถ้าทำอย่างนั้นได้ถือเป็นกุศลมหาศาลทีเดียว ไม่มีอะไรจะดีไปกว่ากรรมฐานอีกแล้ว สร้างโบสถ์เจ็ดหลังก็ยังได้บุญไม่เท่าการปฏิบัติกรรมฐาน แล้วก็ไม่ต้องเสียเงินเสียทองอีกด้วย”

            คนทั้งสามลุกตามนายสมชายออกไปแล้ว บรรดาผู้มีใบหน้าอันเปื้อนทุกข์ก็พากันทยอยเข้ามา เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงจึงไม่มีเวลาขึ้นไปตอบจดหมายช่วงเพล

            เวลาตีสอง ท่านพระครูจำต้องพักการเขียนหนังสือเพราะต้องพักผ่อนหลับนอน ท่านรู้ว่าหากตรากตรำกับงานมากเกินไป สังขารร่างกายก็จะทรุดโทรมเร็วกว่าปกติ แม้เครื่องจักรก็ยังต้องหยุดพัก นับประสาอะไรกับคนซึ่งมีเลือดเนื้อและชีวิต

            ยังไม่ทันที่ท่านจะหลับ เสียงคุ้นหูก็ดังขึ้นว่า “จะบอกยาแก้โรคมะเร็งลำไส้ให้เอาไหม มะเร็งกะเพาะ มะเร็งลำไส้ ใช้ยานี้ได้”

          “ไปได้ตำรามาจากไหน” ท่านถามในใจ

            “ผีบอก” เสียงนั้นตอบ

            “ผีที่ไหน”

            “ที่ไหนก็อย่ารู้เลย แต่รับรองว่าหาย บอกคนหายมาหลายรายแล้ว”

            “แล้วรายนี้จะหายไหม ที่มาเมื่อตอนเพลน่ะ” ท่านทดสอบเสียงประหลาดว่าจะรู้จริงหรือไม่

            “หายพันเปอร์เซ็นต์ ก็ท่านจะเข้าผลสมาบัติช่วยเขาไม่ใช่หรือ”

            “ถ้ากินยาแล้วไม่ต้องช่วยไม่ได้หรือ”

            “รายอื่นได้ แต่รายนี้ไม่ได้”

            “ทำไมไม่ได้”

            “ก็ท่านลั่นวาจาไปแล้ว ถ้าไม่ทำตามนั้น ท่านก็เสียสัจจะน่ะซี”

            “งั้นก็บอกมา”

            “บอกแล้วต้องลุกขึ้นจดไว้นะ ไม่งั้นตอนเช้าลืมหมดไม่รู้ด้วย”

            “ต้องจดสิ อาตมาต้องจดไว้เป็นหลักฐานอยู่แล้ว ถ้าไม่เป็นอย่างที่บอกจะได้ปรับ จะให้ปรับที่ใครล่ะ”

            “ปรับตัวเองนั่นแหละ เอาละนะ จะบอกละ จำให้แม่น ๆ นะ ยาแก้โรคมะเร็งที่ว่านี้ก็คือ ใช้กล้วยน้ำว้าดิบมาหั่นตามขวาง หั่นทั้งเปลือกนะ จำได้หรือเปล่า กล้วยน้ำว้านะ กล้วยอื่นไม่ได้ แล้วก็ต้องดิบ ๆ สุกไม่ได้อีกเหมือนกัน ไม่ต้องปอกเปลือก นำมาหั่นเป็นแว่นบาง ๆ แล้วนำไปผึ่งแดดให้แห้ง จ้างร้ายขายยาบดให้ละเอียด เวลาจะกิน ให้ชงกับน้ำร้อนเหมือนชงชา ดื่มวันละหลาย ๆ ครั้ง ยิ่งมากครั้งเท่าไหร่ ก็ยิ่งดี เอาละลุกขึ้นไปจดได้แล้ว”

          “จะไปแล้วหรือ อยู่คุยกันก่อนซี” เมื่อไม่มีเสียงตอบ ท่านจึงลุกขึ้นมาจด เสร็จแล้วจึงจำวัด

            วันรุ่งขึ้น หลังจากฉันภัตตาหารเช้าเสร็จ เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงจึงพูดกับนายสมชายและนายขุนทองว่า

            “ตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป ฉันจะงดรับแขกสามวัน”

            “หลวงพ่อจะไปไหนหรือครับ” นายสมชายถาม

            “จะเข้าผลสมาบัติ ให้เธอยายไปอยู่กับพระบัวเฮียวชั่วคราว แล้วใส่กุญแจขังฉันไว้ข้างบน ห้ามเยี่ยมห้ามประกัน จนกว่าจะครบสามวัน”

            “แล้วถ้ามีแขกมาหาล่ะฮะ” หลานชายถาม

            “ก็บอกไปตามนี้ อย่าลืมนะ ห้ามใครขึ้นไปรบกวนเป็นอันขาด ไม่ว่ากรณีใด”

            “แล้วถ้าเกิดไฟไหม้ล่ะฮะหลวงลุง” หลานชายเป็นห่วง แต่กลับถูกนายสมชายตำหนิติเตียน

            “นั่นปากหรือ ที่พูดน่ะปากหรือ”

            “ถ้าไม่ใช่ปากแล้วจะเอาอะไรพูดล่ะ พี่นี่ถามแปลก หรือว่าพี่เอาตูดพูดได้” นายขุนทองย้อน

            “นี่พอที ๆ อย่ามาทะเลาะกันต่อหน้าต่อตาข้า” ท่านพระครูปราม

            “ก็เขามาว่าหนูก่อนนี่ฮะ” หลานชายยังไม่ยอมหยุด

            “ก็ปากเอ็งมันดีนักนี่ พูดอะไรออกมาแต่ละทีฟังได้เสียเมื่อไหร่” นายสมชายก็ไม่ยอมแพ้เช่นกัน

            “เอาละ ๆ พอกันทั้งคู่นั่นแหละ ขุนทองเอ็งไม่ต้องห่วงข้าหรอก ถ้าไฟมันจะไหม้ก็ให้มันไหม้ เอ็งขนของของเอ็งออกไปก็แล้วกัน แล้วก็ไม่ใช่มัวแต่ขนของจนลืมขนตัวเองออกไปล่ะ” ท่านบอกหลานชาย

            “แต่หนูห่วงหลวงลุงนี่ฮะ” ชายหนุ่มว่า

            “เออน่า ไม่ต้องห่วงข้าหรอก รับรองข้าไม่ถูกไฟคลอกตายหรอกน่า ดวงข้าจะไม่ต้องตายด้วยไฟ อ้อ สมชายเธอจัดการปรุงยาให้โยมน้องชายเถ้าแก่ด้วยนะ” แล้วท่านจึงบอก “ยาผีบอก” แก่ศิษย์วัด

            “เอาละ เดี๋ยวไปจัดการตามที่สั่งก็แล้วกัน สมชายเธอเป็นคนเก็บลูกกุญแจไว้ เก็บให้ดี ๆ นะ ใครขอไม่ต้องให้บอกว่าฉันสั่ง” ท่านไว้ใจนายสมชายมากกว่า เพราะหลานชายนั้นหากได้ “สินบน” ก็ใจอ่อนใจเปลี้ยตามนิสัยของคนที่งกมาตั้งแต่ก่อนเกิด

            สังการเสร็จท่านก็ลงมือตอบจดหมาย คิดว่าตอบไปอีกสองสามฉบับก่อนลงรับแขกก็ยังดี เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงไม่เคยหายใจทิ้ง!

 

มีต่อ........๗๕