สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๗๘

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00078

๗๘...

         ก่อนเข้าสู่พิธีมงคลสมรสซึ่งจะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๑๘ นายสมชายก็เข้ากรรมฐานเป็นเวลา ๑๕ วัน ตามที่ได้สัญญาไว้กับท่านพระครู ชายหนุ่มตั้งใจปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเพื่อจะให้ได้บุญเท่ากับบวชหนึ่งพรรษา

            ในวันสุดท้ายของการปฏิบัติ เขารู้สึกอิ่มอกอิ่มใจนัก กลอนบทหนึ่งผุดขึ้นในความคิดและเขาก็จำได้แม่นยำทุกตัวอักษร

            โลกวุ่นนักขัดข้องลองมานี่

                 เพราะเรามีธัมมะจะให้ท่าน

                          ป่ามะม่วงร่มเย็นให้เป็นทาน

                                  อย่าได้ผ่านไปเปล่าเชิญเข้ามา

            เมื่อตนได้ลิ้มรสแห่งความสุขอันเกิดจากความสงบแล้ว จึงอยากให้คนเป็นคู่หมั้นได้มาสัมผัสกับสภาวะเช่นนี้บ้าง จึงไปเรียนปรึกษาท่านพระครู เพื่อขออนุญาต เพราะเหลือเวลาอีกตั้ง ๒๐ วัน กว่าจะถึงวันแต่งงาน

            “เป็นความคิดที่ดีทีเดียว ฉันอยากให้คู่สมรสทุกคู่เขาคิดอย่างเธอ เพราะจะทำให้ชีวิตแต่งงานเป็นไปอย่างราบรื่น ด้วยต่างฝ่ายต่างก็มีธรรมเสมอกัน” ท่านพระครูเห็นดีเห็นงามไปด้วย

            “ให้เขาเข้าสักเจ็ดวันก็พอนะครับหลวงพ่อ เวลาที่เหลือจะได้เอาไว้เตรียมงาน” ชายหนุ่มออกความเห็น

            “ก็ได้ เจ็ดวันก็ได้ ตามใจเขาก็แล้วกัน”

            “แล้วผมจะรวยไหมครับหลวงพ่อ พากันมาเข้ากรรมฐานแล้วจะรวยอย่างทิดจ่อยกับพี่จุกเขาหรือเปล่า”

            “แน่นอน ถึงไม่รวยโภคทรัพย์ ก็รวยอริยทรัพย์ หรือไม่ก็รวยทั้งสองอย่าง”

         “อริยทรัพย์คืออะไรครับ” ชายหนุ่มไม่เข้าใจ

            “คือทรัพย์อันประเสริฐ ทรัพย์ในที่นี้ก็คือคุณธรรมประจำใจอย่างประเสริฐ ๗ ประการ ได้แก่ ศรัทธา ศีล หิริ โอตัปปะ พาหุสัจจะ จาคะ และ ปัญญา” ท่านพระครูอธิบาย ครั้นเห็นคนเป็นศิษย์ทำหน้าไม่เข้าใจ จึงขยายความต่อไปอีกว่า

            “อริยทรัพย์เป็นทรัพย์ที่อยู่ภายในจิตใจ จึงดีกว่าทรัพย์ภายนอก เพราะไม่มีผู้ใดแย่งชิง ทั้งยังไม่สูญหายไปด้วยภัยอันตรายต่าง ๆ ทำใจให้ไม่อ้างว้างยากจน และเป็นทุนสร้างทรัพย์ภายนอกได้ด้วย”

            “แต่ผมคิดว่าทรัพย์ภายนอกดีกว่านะครับ เพราะใช้ซื้ออะไรต่อมิอะไรที่ต้องการได้” ชายหนุ่มแย้ง

            “เธอมันก็เป็นเสียอย่างนี้ ชอบตะแบงอยู่เรื่อย ๆ ฉันไม่อยากพูดกับเธอแล้ว พูดไปก็เหมือนเป่าปี่ให้ความฟัง” ท่านพระครูเปรียบเทียบค่อนข้างรุนแรง

            “โธ่หลวงพ่อ อยู่ดีไม่ว่าดี มาด่าผมว่าเป็นความซะแล้ว คนอย่างผมออกฉลาดปราดเปรื่อง” ศิษย์วัดโวยวาย

            “ใช่ซี คนอย่างเธอน่ะฉลาด แต่ฉลาดในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง ส่วนเรื่องที่เป็นเรื่องกลับไม่ฉลาด” ท่านหลีกเลี่ยงไม่ใช่คำว่า “โง่”

            “ทำไมจะไม่เป็นเรื่องเล่าครับ หลวงพ่อให้ผมเข้ากรรมฐาน ผมก็เข้าแล้ว แถมยังจะให้คู่หมั้นมาเข้าอีกด้วย แล้วอย่างนี้ไม่ฉลาดหรือครับ นี่ผมชักน้อยใจแล้วนะ หลวงพ่อไม่เคยเห็นความดีของผมเลย” คนพูดรู้สึกน้อยใจจริงดังวาจา

            “เข้าเค้าแล้ว” ท่านเจ้าของกุฏิพูดยิ้ม ๆ

            “มีอะไรอีกหรือครับ” ถามงง ๆ

            “เธอเคยได้ยินคนเขาพูดกันไหมว่า คนหัวล้านมักใจน้อย แสดงว่าใกล้ความจริงเข้ามาแล้ว”

            “เถอะครับ อะไรมันจะเกิดก็ให้มันเกิด ผมไม่อยากจะคิดมากแล้ว” ชายหนุ่มพูดปลง ๆ

            “ดี คิดอย่างนั้นได้ก็ดี จะได้ไม่มีทุกข์ ว่าแต่ว่าเรามาพูดเป็นงานเป็นการกันดีกว่า ฉันคิดว่าหลังจากเธอแต่งงานแล้ว เธอก็ต้องย้ายไปอยู่บ้านผู้หญิงเขา แล้วฉันก็จะต้องหาคนมาอยู่รับใช้แทนเธอ เจ้าขุนทองคนเดียวมันคงไม่ไหว แล้วฉันก็ไม่ค่อยจะไว้วางใจมันสักเท่าไหร่ เจ้านี่มันคุ้มดีคุ้มร้าย เอาแน่ไม่ได้ เธอคิดจะไปหางานอื่นทำหรือว่าจะยังมาขับรถให้ฉันล่ะ พูดมาตรง ๆ เลยไม่ต้องเกรงใจ”

            “ผมจะมารับใช้หลวงพ่อเหมือนเดิมครับ แต่ขอมาเช้าเย็นกลับ หรือถ้าวันไหนหลวงพ่อจะต้องไปธุระตั้งแต่ตีสี่ ผมก็จะมานอนที่วัด รับรองว่าไม่ให้บกพร่องในหน้าที่เลยครับ” ชายหนุ่มให้คำมั่นสัญญา

            “ดีแล้ว ขอบใจที่ยังเป็นห่วง แล้วฉันก็จะขึ้นเงินเดือนให้เธอจากเดือนละพันเป็นเดือนละพันสอง พอใจไหม”

            “เป็นพระคุณอย่างสูงครับ ว่าแต่ว่าหลวงพ่อจะให้ใครมาอยู่แทนผมครับ” เขาถาม

            “ฉันก็ยังนึกไม่ออกเหมือนกัน เธอพอจะมองเห็นใครที่จะเข้ากับเจ้าขุนทองได้บ้าง คือมาอยู่แล้วจะไม่ทะเลาะเบาะแว้งกันให้ฉันต้องปวดหัวน่ะ” ชายหนุ่มครุ่นคิดอยู่ประเดี๋ยวหนึ่งจึงตอบว่า

            “เจ้าสมชาติน้องชายผมซีครับหลวงพ่อ เจ้าหมอนี่มันใจเย็นแล้วก็ไม่ขัดใจใคร เจ้าขุนทองต้องชอบแน่ ๆ เลย”

            “แล้วตอนนี้เขาทำงานอะไร เธอคิดว่าเขาจะมาอยู่กับฉันหรือ”

            “มาแน่ครับ เจ้านี่มันเชื่อผม แล้วมันก็เคยบ่นว่าขี้เกียจทำนา คงไม่มีปัญหารับ เรื่องนี้ผมจะจัดการให้เรียบร้อย” ศิษย์วัดรับคำแข็งขัน

            “งั้นก็รีบไปจัดการเสียเลย ให้มาวันนี้พรุ่งนี้ได้ยิ่งดี”

            แล้ววันสำคัญที่สุดในชีวิตของนายสมชายก็มาถึง เป็นวันที่เขาแต่งตัวอย่างหล่อเหลาที่สุด และเจ้าสาวของเขาก็สวยสะดุดตากว่าทุกวัน

            แขกเหรื่อพากันมาร่วมงานอย่างคับคั่ง และส่วนมากก็เป็นลูกศิษย์ลูกหาของท่านพระครู โดยเฉพาะเถ้าแก่บ๊กนั้น “รับไหว้” คู่บ่าวสาวเป็นเงินถึงหนึ่งหมื่นบาท

            เมื่อหายจากโรคร้าย บุรุษนั้นไม่ลืมวาจาที่เคยพูดไว้ ว่าจะให้เทวดาที่ต่ออายุให้ โดยคิดเฉลี่ยปีละหมื่นและเพราะเห็นว่านายสมชายมีบุญคุณ นำยามาให้อย่างสม่ำเสมอ จึงตั้งใจจะช่วยเหลือเขาจนสุดความสามารถ

            หลังจากปฏิบัติกรรมฐานอยู่ที่วัดป่ามะม่วงครบสามเดือนแล้ว ชายชราจึงกลับบ้าน และนำเงินมาถวายท่านพระครูห้าหมื่นบาท เพื่อสมทบทุนสร้างหอประชุม และทุนเสริมสมอง รายการละสองหมื่นบาท ส่วนอีกหนึ่งหมื่นบาทเขาถวายท่านพระครูไว้สำหรับใช้จ่ายส่วนตัว ซึ่งเจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงก็ได้นำเงินจำนวนนั้นมา “รับไหว้” คนเป็นศิษย์

            เพียงสองรายแรก คู่บ่าวสาวก็ได้เงินก้นถุงเป็นจำนวนถึงสองหมื่นบาท แล้วก็ยังมีรายละห้าพันบาทอีกสามรายคือ เถ้าแก่เส็ง คหบดี และอาจารย์ชิต โดยเฉพาะอาจารย์ชิตนั้นได้กำชับนักกำชับหนาว่าหากนายสมชายจะแต่งงานให้ส่งการ์ดเชิญไปให้เขาด้วย เพราะต้องการจะตอบแทนบุญคุณที่ชายหนุ่มได้ดูแลช่วยเหลือเขาเป็นอย่างดีระหว่างที่ป่วยอยู่ที่วัดป่ามะม่วง

            นอกจากรายใหญ่ ๆ ห้ารายแล้ว ก็มีรายละพัน รายละห้าร้อย ลดหลั่นลงมาเรื่อย ๆ และรายที่น้อยที่สุดก็คือห้าบาท ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดและส่วนใหญ่ก็เป็นเพื่อนบ้านใกล้เคียงซึ่งจะยกกันมาทั้งครอบครัว แล้วพากันกินอย่างอิ่มหนำสำราญด้วยเงินช่วยเพียงห้าบาทเท่านั้น

            สัปดาห์ต่อมานายสมชายก็พาภรรยามากราบท่านพระครูที่วัดป่ามะม่วงและนำเงินมาถวายห้าหมื่นบาท

            “ผมขอถวายคืนหลวงพ่อ เพื่อสมทบทุนสร้างหอประชุมตามเจตนารมณ์ของคหบดีเขาครับ” เขาเรียนชี้แจง

            “ไปเอาเงินมาจากไหน” ท่านเจ้าของกุฏิถาม

            “เงินที่เขารับไหว้และเงินช่วยงานครับ เบ็ดเสร็จได้ถึงเจ็ดหมื่น เพราะบารมีของหลวงพ่อทีเดียว ผมถึงได้เงินช่วยมากมายถึงปานนี้ แถวบ้านผมไม่เคยมีใครได้มากเท่านี้มาก่อนเลยครับ” ชายหนุ่มพูดอย่างภูมิใจ

            “แต่ถ้าเธอจะทำบุญก็ถือว่าเป็นเงินของเธอนะ เพราะคหบดีเขาให้เธอแล้ว เป็นอันว่างานนี้คหบดีได้บุญสองต่อ” ท่านเจ้าของกุฏิกล่าว

            “ครับ งั้นผมก็โชคดีที่ได้ทำบุญเป็นเงินจำนวนมากมายอย่างนี้”

            “แหม ถ้าหนูแต่งแล้วได้เงินช่วยมาก ๆ ยังงี้คงดีใจตายเลย” นายขุนทองว่า

            “ถ้างั้นก็อย่าแต่งเลยวะ ข้ายังไม่อยากให้เอ็งตาย อยากให้อยู่รับใช้หลวงพ่อไปก่อน” คนมากวัยกว่าออกความเห็น

            “แหม พี่ละก็ หนูแค่พูดเล่น ๆ เท่านั้นเอง อยู่กะหลวงลุง ขืนดีใจตายก๊อเสียชื่อหลวงลุงแย่ หนูรู้หรอกน่าเวลาดีใจมาก ๆ ต้องกำหนด “ดีใจหนอ ดีใจหนอ” รับรองว่าไม่ตาย” หนุ่มวัยยี่สิบเอ็ดบวกอีกหนึ่งอธิบาย ท่านเจ้าของกุฏิจึงกล่าวเสริมอีกว่า

            “เออ รู้อย่างนี้ก็ดีแล้ว คนเราสมัยนี้ไม่ค่อยจะฝึกสติกัน ดีใจมากก็ช็อคตาย เพราะไม่รู้จักกำหนดสติ ไม่รู้จักวางเฉยในโลกธรรมทั้งฝ่ายอิฏฐารมณ์ และ อนิฏฐารมณ์ บางคนถูกรางวัลที่หนึ่งตั้งห้าแสนแต่กลับไม่ได้ใช้เงินแม้แต่บาทเดียว เพราะดีใจจนช็อคตายไปเสียก่อน”

         “ก็เขาไม่ได้มาเรียนกรรมฐานกับหลวงลุง จึงไม่รู้จักกำหนด “ดีใจหนอ ดีใจหนอ” ถ้าเป็นขุนทองเรอะ ส.บ.ม.”

            “แต่พูดกับทำไม่เหมือนกันหรอกนะเจ้าขุนทอง ข้าว่าเอ็งน่าจะลองปฏิบัติดู ไม่ใช่รู้แต่ทฤษฎี คนที่เรียนว่ายน้ำจากทฤษฎี พอตกน้ำก็ตายเรียบร้อยทุกราย”ท่านเจ้าของกุฏิเปรียบเทียบ

            “เอาไว้วันหนังหนูค่อยลอง รอให้ใจคอมันปลอดโปร่งกว่านี้อีกสักหน่อย” หลานชายผัดผ่อน

            “มัวผัดวันประกันพรุ่งอยู่นั่นแหละ ระวังจะสายเกินไป” ท่านพระครูเตือน

            “เถอะน่า รับรองว่าไม่สาย ไว้ใกล้ ๆ แต่งงานแล้วหนูค่อยเข้ากรรมฐาน แบบพี่สมชายไง” ชายหนุ่มให้เหตุผล

            “แล้วตอนนี้จวนหรือยัง จวนแต่งหรือยังจ๊ะ” ภรรยานายสมชายกระเซ้า

            “จวนแล้วฮ่ะ ยังขาดอีกอย่างเดียว” เขาตอบ

            “ขาดอะไร เผื่อพี่พอจะหาให้ได้” หล่อนแสดงน้ำใจไมตรี

            “ยังขาดเจ้าบ่าวฮะ นอกนั้นพร้อมแล้ว”

            “มันจะมากไปเจ้าขุนทอง มันจะมากไป” ท่านพระครูว่าคนเป็นหลาน

            “ไม่มากหรอกหลวงลุง ไม่เชื่อหลวงลุงจะลองดูก็ได้ ลองหาเจ้าบ่าวมาให้หนูซักคน แล้วดูซิว่าหนูจะยอมเข้ากรรมฐานหรือไม่”

            “ข้าไม่รู้จะไปหาที่ไหนมาให้เอ็ง ถ้าหาเจ้าสาวละก็พอจะหาให้ได้” คนเป็นสมภารรู้สึกอ่อนใจ

            “อุ๊ย หนูจะเอามาทำไมเจ้าสาวน่ะ ก็หนูเป็นเจ้าสาวอยู่แล้ว ขืนหามาอีกได้ฟ้าผ่าตายปะไร หลวงลุงนี่พิลึกจริง ๆ”

            “ข้าว่าเอ็งนั่นแหละพิลึก สมชายเธอเห็นด้วยไหม” ท่านถามคนเป็นศิษย์

            “อย่าไปเถียงกับมันเลยครับหลวงพ่อ ปวดหัวเปล่า ๆ มันจะว่ายังไงก็ปล่อยให้มันว่าไปคนเดียว อ้อหลวงพ่อครับ เจ้าสมชาติน้องชายผมไปไหนเสียล่ะครับ” ชายหนุ่มถามถึงน้องชายซึ่งได้มาอยู่รับใช้ท่านพระครูแทนเขาประมาณสิบวันแล้ว

            ช่วงก่อนแต่งงานเขามีธุระยุ่งมาก ประกอบกับท่านเจ้าของกุฏิไม่ได้มีธุระไปไหน เขาจึงไม่ได้มาวัดและไม่เห็นน้องชายเสียหลายวัน ท่านพระครูยังไม่ทันตอบ คนถูกถามหาก็เดินเข้ามาพอดี

            “อุ๊ยตาย พี่สมชาย พี่แป้งร่ำ มายังไงกันนี่ แหม ดีใจ๊ดีใจ” คนชื่อสมชาติทักทายดวยเสียงมีจริตจะก้าน นายสมชายมองหน้าท่านพระครู เหมือนจะถามว่าได้เกิดอะไรขึ้น

            “ดูเอาเอง” ท่านเจ้าของกุฏิตอบโดยไม่รอให้ถาม

            “สมชาติ เอ็งเป็นอะไรไป ก็เป็นผู้ชายอยู่ดี ๆ ไหงมากระตุ้งกระติ้งยังกะผู้หญิงล่ะ” คนเป็นพี่ชายสงกา

            “ก็ถามขุนทองเขาดูซี นิขุนทองนิ” ชายหนุ่มหันไปพยักพเยิดกับนายขุนทอง หนุ่มวัยยี่สิบสองหมาด ๆ ยิ้มอย่างมีชัยแล้วว่า

            “เขาเรียกออสโมซิสฮ่ะ คนเราจะอยู่ด้วยกันก็ต้องมีอะไร ๆ ที่คล้ายคลึงกัน ถึงจะอยู่ด้วยกันยืด”

            “แล้วที่เองอยู่กับข้ามานาน ทำไมเอ็งถึงไม่ปรับตัวให้เหมือนข้าหือ”นายสมขายแย้ง

            “พี่ไม่ปรับตัวเขาหาหนูต่างหากล่ะ สมชาติเขาฉลาดกว่าพี่เยอะตรงที่รู้จักปรับตัว.” คนเป็นหลานท่านพระครูว่า

            “เอาอีกแล้ว ว่าข้าโง่อีกแล้ว” สามีนางแป้งร่ำว่า

            “พี่สองคนมาธุระอะไรหรือเปล่าฮะ” นายสมชาติถามขึ้น คนเป็นพี่ชายจึงว่า

            “ก็จะมาดูเอ็งนั่นแหละว่าอยู่สุขสบายดีหรือเปล่า”

            “แล้วพี่เห็นว่าหนูสบายหรือเปล่าล่ะฮะ คนเป็นน้องย้อนถาม”

            “ก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่ที่รู้แน่ ๆ คือตัวข้านี่แหละยังไม่สบาย มาเห็นเอ็งเป็นแบบเจ้าขุนทองไปอีกคน บอกตามตรงว่าข้าไม่สบายใจเลย หลวงพ่อทำไมเลี้ยงผู้ชายให้กลายเป็นผู้หญิงล่ะครับ” เขาถือโอกาสต่อว่าท่านพระครู

         “ฉันก็ไม่รู้เหมือนกัน ก็เลี้ยงมันเหมือนที่เลี้ยงเธอทุกอย่างนั่นแหละ แต่ทำไมมันถึงไม่เหมือนเธอก็ไม่รู้”

         “ต้องยกให้เป็นเรื่องของกฎแห่งกรรม ใช่ไหมครับ”

         “ก็คงต้องเป็นยังงั้น แต่ที่เธอเห็นนี่ยังไม่เท่าที่ฉันเห็นหรอก” ท่านโน้มตัวมากระซิบข้างหูคนเป็นศิษย์ว่า

         “ที่ฉันเห็นนะ เจ้าสองคนนี่มันเพี้ยนหนักกว่านี้อีก เวลามีพวกเด็กหนุ่ม ๆ หล่อ ๆ มาเข้ากรรมฐาน มันจะแวะเวียนไปแถวกุฏิกรรมฐานวันละหลายเวลา ไปแอบดูเขาแล้วก็เอามาวิพากษ์วิจารณ์ว่าหล่อยังงั้นยังงี้ บางทีก็ย่างกันเสียด้วยซ้ำ ท่าทางมันจะกู่ไม่กลับทั้งคู่นั่นแหละ” ท่านพระครูแฉพฤติกรรมของคนทั้งสอง

         “หลวงลุงนินทาอะไรหนู” หลานชายว่า

         “ข้าเปล่านินทา ข้าพูดความจริงต่างหากล่ะ”

         “ก็ถ้าพูดความจริงแล้วทำไมต้องกระซิบด้วยล่ะฮะ” นายขุนทองแย้ง

         “นั่นเพราะเอ็งไม่ยอมรับความจริงต่างหากล่ะ ข้าก็เลยต้องกระซิบน่ะซี หรือเอ็งจะเถียง”

         “ไม่เถียงก็ได้ฮะ ว่าแต่ว่าหลวงลุงลงรับแขกเถอะฮ่ะ หนูปล่อยให้พวกเขารอนานแล้ว” หลานชายเตือนนายสมชายและภรรยาจึงกราบลาท่านเจ้าของกุฏิ

         “ถ้าหลวงพ่อจะมีธุระไปไหนก็ให้เจ้าสมชาติไปตามผมนะครับ แต่ถ้ายังไม่มี ผมก็จะขอพักอีกสักสองสามวันแล้วค่อยมาทำงาน”

         “ไม่เป็นไร เชิญพักผ่อนตามสบายเถอะ ฉันยังไม่มีรายการไปไหนในช่วงนี้ ว่าจะสะสางให้เสร็จ ๆ เสียที โดยเฉพาะงานเขียนหนังสือ” ก่อนกลับชายหนุ่มยังสั่งนายขุนทองและนายสมชาติว่า

         “เอ็งสองคนช่วยกันดูแลหลวงพ่อให้ดีนะ อย่ามัวแต่ไปเที่ยวแอบดูหนุ่ม ๆ ล่ะ”

         “รับรองฮ่ะ ทีนี้ถ้าจะไปก็จะผลัดเวรกันไป จะไม่ไปพร้อมกัน ใช่ไหมขุนทอง” คนชื่อสมชาติพูดเสียงอ่อนเสียงหวาน

         “ใช่แล้วสมชาติ” คนพูดตั้งใจลากเสียงยาวจนเกิดความจำเป็น

         เมื่อท่านพระครูลงรับแขกที่กุฏิชั้นล่าง มีเจ้าทุกข์รออยู่แล้วประมาณยี่สิบคน สตรีวัยห้าสิบเศษเข้ามากราบ

         “จะให้ช่วยอะไรหรือโยม” ท่านเอ่ยขึ้นก่อน

         “คืออย่างนี้ค่ะ ลูกชายดิฉันมันหลงเมียเสียจนลืมหูลืมตาไม่ขึ้น ดิฉันทนไม่ได้ค่ะ”

         “ทำไมถึงทนไม่ได้ล่ะโยม”

         “มันหมั่นไส้ค่ะ หมั่นไส้เหลือเกิน” คนเป็นแม่ผัวตอบ

         “อย่าไปหมั่นไส้เขาเลย เราน่าจะดีใจเสียอีกที่เห็นเขารักใคร่ปรองดองกัน คนเป็นแม่จะต้องมีมุทิตาจิต ไม่ใช่ไปหมั่นไส้เขา นะโยมนะ”

         “มันทำใจไม่ได้ค่ะหลวงพ่อ ดิฉันไม่เคยพบเห็นผู้ชายที่ไหนหลงเมียถึงปานนี้ ขนาดพ่อเด็กเขาก็ยังไม่เคยหลงดิฉันอย่างนี้มาก่อน”

         “โยมก็เลยอิจฉาลูกสะใภ้ใช่ไหมล่ะ” ยังไง ๆ ท่านก็เข้าข้างคนเป็นสะใภ้ เพราะยังจำฤทธิ์ร้ายของคนเป็นแม่ผัวในอดีตชาติได้ดี แม้ปัจจุบันจะไม่เคืองแค้น หากก็ยัง “จำ” ความร้ายกาจของฝ่ายนั้นได้

         “มันก็ไม่เชิงอิจฉานะคะ ถ้าเขาจะทำตัวดีกว่านี้ ดิฉันจะไม่อิจฉาเขาเลยค่ะ”

         “เขาทำตัวยังไงล่ะ”

         “โอ๊ย อย่าให้พูดเลยค่ะหลวงพ่อ พูดแล้วมันช้ำใจ” ว่าแล้วก็ร้องไห้ด้วยเคียดแค้นชิงชังในคนเป็นสะใภ้

         “ก็ถ้าไม่พูดแล้วอาตมาจะรู้ได้ยังไงล่ะ”

         “จริงซีคะ แหม ดิฉันไม่น่าโง่เลย” นางว่าตัวเอง แล้วเริ่มต้นเล่าเป็นฉาก ๆ อย่างชำนิชำนาญ เพราะเคยเล่าให้เพื่อนบ้านฟังทุกบ้านและทุกวันจนหาคนฟังไม่ได้ จึงต้องมาวัดป่ามะม่วงเพื่อเล่าให้ท่านพระครูฟัง

         “คืออย่างนี้นะคะหลวงพ่อ ลูกสะใภ้ของดิฉันน่ะ สวยก็ไม่สวยความรู้ก็ไม่สูง กิริยามารยาทหรือก็ไม่บ่งบอกว่าเป็นชาติผู้ดี แถมฐานะก็ยากจนข้นแค้น ดิฉันก็ไม่รู้ว่าไอ้ลูกชายของดิฉันมันไปหลงได้ยังไง ดิฉันจะไปขอลูกสาวเศรษฐีให้ เขาทั้งสวยทั้งรวยมันก็ไม่สนใจเขา ดันไปคว้าแม่นี่มาเป็นเมีย”

         “ก็เขาชอบของเขานี่โยม เขาคงจะเป็นเนื้อคู่กัน ปล่อยเขาไปเถอะอย่าไปยุ่งกับเขาเลย” สมภารวัดป่ามะม่วงกล่าวเตือน

         “ไม่ยุ่งได้ยังไงล่ะคะ หลวงพ่อดิฉันสงสารลูกชายค่ะ มันใช้ลูกชายฉันยังกะขี้ข้า หาเงินมาเลี้ยงมันแล้วยังต้องมานั่งหุงข้าวทำกับข้าวให้มันกิน ต้องซักผ้าให้ ซักแม้กระทั่งกางเกงในของมัน ขนาดดิฉันเป็นแม่แท้ ๆ ยังไม่เคยให้ลูกซักกางเกงใน” คนเป็นแม่ผัวพรรณนา

         “มันจะมากไป มันจะมากไป ถ้าถึงขนาดให้ผัวซักผ้าให้แบบนั้นก็แย่น่ะซี คนอย่างนี้หากินไม่ขึ้น โบราณเข้าถือนักหนา ผู้ชายที่รักเมียถึงขนาดนี้ อาตมาไม่สรรเสริญแน่ ไม่น่าสรรเสริญเลย” เป็นครั้งแรกที่ท่านเข้าข้างแม่ผัว

         “แล้วดิฉันจะทำยังไงคะหลวงพ่อ”

         “พามาหาอาตมา แล้วจะช่วยอบรมให้ พามาทั้งสองคนนั่นแหละ”

         “ค่ะ แล้วดิฉันจะพามา ของพระคุณหลวงพ่อมาก ดิฉันถือโอกาสกราบลาละค่ะ”

         รายต่อมาเป็นบุรุษวัยห้าสิบเศษ หน้าตาเขาหมองคล้ำเหมือนคนที่กำลังมีทุกข์อย่างหนัก กราบท่านพระครูแล้วจึงเรียนว่า “เรื่องของผมเป็นความลับครับ ถ้าหลวงพ่อจะกรุณา ผมอยากปรึกษาตัวต่อตัวครับ”

         “ไม่เป็นไร พูดเบา ๆ พอได้ยินกันสองคนก็ได้ โยมมีอะไรก็ว่าไปเลย” ท่านไม่อนุญาตให้ขึ้นข้างบน ด้วยเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำเช่นนั้น

         “คืออย่างนี้ครับหลวงพ่อ คุณแม่ผมอายุแปดสิบ แล้วแกก็หลง หลงมาตั้งแต่ยังไม่เจ็ดสิบ ผมไม่กล้าพาไปไหน เพราะอับอายขายหน้ามาก แกมีพฤติกรรมอย่างหนึ่งที่ใคร ๆ เห็นเข้าก็ต้องตำหนิติเตียน ผมจะบาปไหมครับถ้าเอาความลับของผู้บังเกิดเกล้ามาเปิดเผยให้หลวงพ่อทราบ”

         “โยมมีจุดประสงค์อะไรที่ต้องทำเช่นนั้นล่ะ คือหมายถึงว่าโยมมีเจตนาดีหรือเจตนาร้ายต่อท่าน”

         “เจตนาดีครับ ที่ต้องเอามาเปิดเผยก็เพื่อจะช่วยแกน่ะครับ เมื่อหลวงพ่อฟังแล้วเผื่อจะแนะนำผมได้ว่าจะมีวิธีแก้อย่างไร” ท่านเจ้าของกุฏิตอบเขาว่า

         “ถ้าอย่างนั้นก็ไม่บาป เพราะโยมทำด้วยเจตนาดี” เขาหันซ้ายหันขวาเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีใครมาได้ยิน แล้วจึงเล่าด้วยเสียงที่เบาที่สุด

         “คือแม่ผมแกชอบล้วงเข้าไปในผ้านุ่งครับ เอามือล้วงเข้าไปตรงนั้นแล้วก็ควักมาดม เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่อายุยังไม่เจ็ดสิบ ผมไม่กล้าพาแกไปไหน เพราะอับอายชาวบ้าน ก่อนหน้าที่ผมไม่ทราบว่าแกมีพฤติกรรมอย่างนี้ ผมก็พาแกไปทอดกฐินที่วัดต่างจังหวัด ซึ่งผมเป็นประธานของงาน ความที่ผมอยากให้แม่ได้บุญเลยพาแกไปด้วย แล้วแกก็ไปทำอย่างนี้ ทำให้ผมกับภรรยาอับอายเขามาก เพราะกรรมอะไรครับ แล้วผมจะแก้ไขอย่างไร” ท่านพระครูรู้สึกสังเวชใจที่ได้ยินได้ฟัง และท่านก็เห็นกฎแห่งกรรมของสตรีวัยแปดสิบอย่างทะลุปรุโปร่ง

         “มันเป็นกฎแห่งกรรมน่ะ โยมคุณแม่ของโยมทำกรรมไว้ตอนสาว แล้วกรรมนั้นก็มาให้ผลในตอนแก่ โดยอยากทราบไหมว่าท่านทำกรรมอะไรไว้”

         “อยากทราบครับ กรุณาบอกผมด้วยเถิดครับ”

         “โยมเชื่อเรื่องเสน่ห์ยาแฝดหรือเปล่า เรื่องผู้หญิงที่ชอบทำเสน่ห์ให้สามีหลง เคยได้ยินไหม”

         “เคยได้ยินครับ แต่ไม่ค่อยจะเชื่อว่าจะเป็นไปได้ คือผมหมายถึงว่ามันจะได้ผลน่ะครับ” คนมีแม่อายุแปดสิบตอบ

         “จะได้ผลหรือไม่ได้ผล มันก็ขึ้นอยู่กับคนถูกทำนะโยม ถ้าคนถูกทำจิตอ่อนก็ได้ผล แต่ถ้าเขาจิตแข็ง เสน่ห์ยาแฝดที่ว่าก็ทำอะไรเขาไม่ได้ ทีนี้ในกรณีของคุณแม่โยมนั้นได้ผล เพราะคนพ่อโยมเป็นคนจิตอ่อน ที่อาตมาพูดมานี้โยมอาจจะไม่เชื่อ เพราะฟังดูเป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระใช่ไหม แต่ถ้าโยมคิดและพิจารณาตามหลักของเหตุผลแล้ว พฤติกรรมของคุณแม่โยมเป็นเครื่องพิสูจน์ได้อย่างดีที่สุด”

         คำพูดของท่านพระครู ทำให้บุรุษวัยห้าสิบเศษหวนระลึกถึงเหตุการณ์สมัยที่เขายังเด็ก และมารดามักจะนั่งคร่อมบนอาหารที่จะให้บิดารับประทาน และหากเป็นผักสดและผลไม้ นางก็จะเอาซุกเข้าไปในผ้านุ่งเช็ดถูกับบริเวณใต้ท้องน้อยแล้วจึงนำไปให้บิดารับประทาน ท่านเจ้าของกุฏิให้เวลาเขาในการรำลึกนึกย้อนกลับไปยังอดีต เสร็จแล้วจึงพูดขึ้นว่า

         “เรื่องการทำเสน่ห์มันเป็นไสยศาสตร์ เป็นเดรัจฉานวิชา เมื่อคนถูกทำเสน่ห์ตายลง มันก็จะกลับมาหาตัวคนทำ โยมสังเกตหรือเปล่า คุณแม่โยมเริ่มมีพฤติกรรมแบบนี้หลังจากที่คุณพ่อเสียไปแล้ว”

         “ครับ คงจะจริงอย่างที่หลวงพ่อว่า คุณพ่อผมเสียชีวิตตอนคุณแม่อายุหกสิบเศษ ๆ หลังจากนั้นไม่นาน คุณแม่ก็มีพฤติกรรมแปลก ๆ อย่างที่เป็นอยู่” คนพูดรู้สึกร้อนอกร้อนใจที่มารดามามีอันเป็นเช่นนี้ได้

         “ผมจะช่วยแกได้อย่างไรครับ” ถามเสียงละห้อย

         “ช่วยไม่ได้หรอกโยม คนแก่จนหลงแล้วไม่มีทางแก้ได้ ต้องปล่อยไปตามกรรมของเขา สิ่งที่เกิดแล้วแก้ไม่ได้ ในกรณีนี้แก้ไม่ได้ โยมจำไว้เลย แล้วก็ไปสอนลูกหลานว่าอย่าไปทำเสน่ห์ สามีเขาจะรักหรือไม่รักก็ช่างเขา เพราะมันจิตใจของเขา เราไปห้ามไม่ได้ ถ้าไปทำเสน่ห์ให้เขามารัก บาปกรรมจะต้องตกอยู่ที่ตัวเรา เพียงแต่ว่ามันจะปรากฏผลให้เห็นเร็วหรือช้าเท่านั้น อาตมาเสียใจที่ไม่อาจช่วยคุณแม่ของโยมได้”

         “แต่ถึงจะช่วยแม่ไม่ได้ แต่ก็ช่วยผมได้ครับ เพราะเมื่อผมรู้เช่นนี้แล้วก็ทำใจได้ แม่แกเป็นคนทำกรรม แกก็ต้องรับผลของมัน แล้วผมก็จะสอนลูกหลานไม่ให้เอาเยี่ยงอย่างแก ถึงอย่างไรผมก็ได้รับประโยชน์จากการมาครั้งนี้ครับ” เขากล่าวด้วยใบหน้าที่ดูดีขึ้นนิดหนึ่ง นิดเดียวจริง ๆ

 

            มีต่อ........๗๙