แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา
มีพุทธศาสนิกชนเป็นจำนวนมากที่ไม่ทราบแก่นธรรมของพระพุทธศาสนานั้นคืออะไร หรือนัยหนึ่งไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนอะไรเป็นหลักสำคัญ
การที่พระองค์ทรงอุตสาหะเสด็จจาริกไปในที่ต่างๆ
ตั้งแต่ตรัสรู้จนถึงเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน รวมเป็นเวลาถึง ๔๕ ปี
ก็เพื่อจุดประสงค์อันเดียวคือทรงสั่งสอนแก่นธรรม ๓ ประการนั้น คือ
๑.
การละความชั่ว
๒.
การทำความดี
๓.
การชำระใจให้บริสุทธิ์
ในบรรดาศาสนาต่างๆ
ทั้งที่เกิดขึ้นก่อนพระพุทธศาสนาและที่เกิดมาในภายหลัง
ต่างก็มีหลักสอนให้ละความชั่วและให้ทำความดีเป็นประการสำคัญ
แต่ไม่มีศาสนาใดที่สอนถึงวิธีชำระใจให้บริสุทธิ์ ซึ่งเป็นวิธีที่มีอยู่ก็แต่ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น
พระพุทธเจ้าได้ทรงเล็งเห็นโดยแจ้งชัดว่าโลกของรานี้เป็นโลกของความทุกข์ คือ การเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากกันเป็นทุกข์ การร่ำไห้อาลัยเป็นทุกข์ ความเสียใจเป็นทุกข์ ความเหี่ยวแห้งใจเป็นทุกข์ มูลเหตุที่ก่อให้เกิดทุกข์ ก็คือตัณหาหรือความอยาก ซึ่งก่อให้เกิดกิเลสเกรอะกรังดวงจิต ได้แก่ โลภ โกรธ หลง ที่จะให้พ้นทุกข์จึงจำจะต้องตัดมูลเหตุ คือ กิเลสตัณหาออกไปให้สิ้น เมื่อละกิเลสตัณหาให้หมดไปได้หมดแล้ว จิตก็จะบริสุทธิ์ เป็นการดับทุกข์ได้สิ้นเชิง แต่ตราบใดที่ผู้ใดยังไม่สามารถจะทำให้กิเลสตัณหาหมดไปได้
ผู้นั้นก็จะต้องประสบทุกข์และเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏฏ์อยู่เรื่อยไป ต่อเมื่อสามารถละกิเลสตัณหาได้หมดสิ้นแล้ว
ก็จะพบกับความดับทุกข์หรือที่สุดแห่งทุกข์คือนิพพาน ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป และพระองค์ก็ได้ทรงค้นพบทางดับทุกข์หรือวิธีจะทำให้ทุกข์ดับโดยสิ้นเชิงนี้คือ อริยสัจ ๔
ซึ่งเป็นธรรมวิเศษที่จะพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้
วิธีจะทำให้ทุกข์ดับ หรือวิธีชำระใจให้บริสุทธิ์นั้น ตามหลักพระพุทธศาสนาเรียกว่า
การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
หรือการปฏิบัติธรรม
การเจริญวิปัสสนากรรมฐานนี้เป็นทางเดียวเท่านั้น
ที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติได้รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมวิเศษของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่าบรรลุมรรคผลนิพพาน
การทำความดับสนิทในกองทุกข์ทั้งมวล ที่ตัณหาได้ก่อขึ้นไว้นั้น อยู่ที่ตรงการ กระทำ
ความคลายคืนโดยที่ไม่มีเหลือและความดับไม่เหลือ ความละวาง ความสละคืน ความผ่านพ้น ความไม่อาลัย ซึ่งตัณหานั้นเทียว มีปัญหาว่าการที่จะดับตัณหาเสียนั้น จะดับที่ตรงไหน คำตอบมีว่า สิ่งใดที่สภาวะเป็นที่รัก ที่สภาวะเป็นที่ยินดีในโลก ตัณหานี้เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละได้ในที่นั้น เมื่อจะดับย่อมดับในที่นั้น นี้คือ การค้นพบอริยสัจข้อที่ ๓
การค้นพบอริยสัจข้อที่
๔ คือ
การค้นพบทางเป็นเครื่องให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นั้น
ก็ย่อมเป็นอย่างเดียวกันกับการค้นพบหนทาง
เป็นเครื่องให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งตัณหาซึ่งเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะว่าเมื่อดับเหตุ คือ ตัณหาได้แล้ว
ผลคือความทุกข์ก็ย่อมจะดับไปตามหนทางดังกล่าวนี้คือหนทางอันประกอบด้วยองค์
๘ อันประเสริฐ ได้แก่
๑.
ความเห็นชอบ คือ
ความรู้ในทุกข์
ความรู้ในเหตุให้เกิดทุกข์
ความรู้ในการดับไม่เหลือแห่งทุกข์
ความรู้ในหนทางเป็นเครื่องให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
๒.
ความดำริชอบ คือ
ความดำริในการออกจากกาม
ความดำริในการไม่พยาบาท
ความดำริในการไม่เบียดเบียน
๓.
วาจาชอบ คือ เว้นจากพูดเท็จ เว้นจากพูดยุให้แตก เว้นจากพูดหยาบ เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ
๔.
การงานชอบ คือ
เว้นจากฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม
๕.
อาชีวะชอบ คือ
ละการหาเลี้ยงชีพในทางที่ผิด
สำเร็จการเป็นอยู่คือการหาเลี้ยงชีพที่ชอบ
๖.
ความเพียรชอบ คือ
ปลูกความพอใจ
พยายามปรารภความเพียร
ประคองจิตตั้งจิตไว้เพื่อความไม่บังเกิดขึ้นแห่งอกุศลกรรมอันลามกที่ยังไม่เคยบังเกิด
เพื่อการละเสียซึ่งอกุศลธรรมอันลามกที่บังเกิดขึ้นแล้ว
เพื่อความความบังเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรมที่ยังไม่เคยบังเกิด
เพื่อความยั่งยืนความไม่เลอะเลือนความงอกงามยิ่งขึ้น ความไพบูลย์ ความเจริญ ความเห็นแห่งกุศลธรรมที่บังเกิดขึ้นแล้ว
๗.
ความระลึกชอบ คือ
ความเป็นผู้มีสติ
เห็นกายในกายอยู่
เห็นเวทนาในเวทนาอยู่
เห็นจิตในจิตอยู่
เห็นธรรมในธรรมอยู่
มีความเพียรเครื่องเผาบาป
มีความระลึกตัวทั่วพร้อม
มีสตินำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้
๘.
ตั้งใจมั่นชอบ คือ
เพราะสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าถึงฌานที่ ๑ อันมีวิตก วิจาร ปีติ และสุข อันเกิดแต่วิเวกแล้ว และอยู่หนทางหรือ มรรค ๘ นี้
คือระเบียบการครองชีวิตตามธรรมในพระพุทธศาสนา
ถ้าจะสรุปอุดมธรรมที่เรียงไว้ข้างต้นนี้ ก็จะได้ใจความดังนี้
ในเบื้องต้นการศึกษาในเรื่องอัตภาพของมนุษย์
ซึ่งพุทธศาสนาได้จำแนกออกเป็นส่วนต่างๆ ๕ ส่วน เรียกว่าเบญจขันธ์ ได้นำไปสู่ความรู้ความเป็นจริง ในสามัญลักษณะทั้ง ๓ ของชีวิตและสังขารทั้งปวง อันได้แก่ ความไม่เที่ยง ความทุกข์ ความไม่มีตัวตน การศึกษาถึงอริยสัจ ๔ จะนำไปสู่ความรู้ตามความเป็นจริงว่า ความทุกข์นั้นได้ผูกพันธ์อยู่กับชีวิตของคนเราตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย
เหตุที่ชักนำให้เกิดความทุกข์นั้นได้แก่ตัณหา เมื่อดับตัณหาซึ่งเป็นเหตุเสียแล้วทุกข์ ซึ่งเป็นผลย่อมดับไปตาม เพราะว่าตัณหาเป็นเหตุของอุปทาน คือ ความเข้าไปยึดถือเบญจขันธ์ ว่าเป็นตัวตนอันเป็นจุดอุบัติของทุกข์ทั้งปวง ดังนั้น เมื่อตัณหาดับ อุปทานก็ดับไปตาม เมื่อความเข้าใจยึดถือเบญจขันธ์ ๕ ในขณะเดียวกัน เบญจขันธ์ก็เป็นอันถูกถอนไปด้วย ในขณะเดียวกัน
เบญจขันธ์ที่ดำรงอยู่ก็จะเป็นแต่สักว่าเบญจขันธ์ที่แปรเปลี่ยน จะเสื่อมจะแตกทำลายไปอย่างไร ก็ไม่ก่อความทุกข์ให้แก่ใคร เพราะไม่มีใครเข้าไปยึดถือมันเสียแล้ว
(เพื่อที่จะเข้าใจความเป็นเหตุเป็นผลของธรรมเหล่านี้ให้แจ่มแจ้ง สมควรจะศึกษาธรรมปฏิจจสมุปบาท อันแปลว่า สภาพอันอาศัยกันเกิดขึ้น) หนทางหรือมรรคแปด
เป็นธรรมปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงความดับทุกข์สิ้นเชิง
ระบบหรือวิธีการปฏิบัติเพื่อได้ปัญญาจักษุ คือได้ดวงตาเห็นธรรมนั้น ได้แก่การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน หรือการเจริญสติปัฏฐาน ๔
ตามที่พระบรมศาสดาได้ทรงแสดงไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร
หากว่าพุทธศาสนิกชนผู้เลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนาทำความขวนขวายศึกษาธรรมเหล่านี้ อันได้แก่ การศึกษาเรื่องเบญจขันธ์ ไตรลักษณ์ หรือสามัญลักษณะทั้ง ๓ อริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาท
และวิธีการเจริญสติปัฏฐานให้เข้าใจอย่างดีแล้ว ข้าพเจ้าเข้าใจว่า การศึกษาเช่นนั้น
จะเป็นการเพียงพอแก่การกระทำเข้าใจในหลักธรรมของพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง และเมื่อได้มีการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจนได้ดวงตาเห็นธรรมด้วยแล้ว
ผู้นั้นก็จะได้ชื่อว่าได้รับเอาบรมสัจธรรมไว้
สมดั่งปรารถนาอันเปี่ยมด้วยพระกรุณาของพระบรมศาสดาทั้งจะได้ชื่อว่า
เป็นผู้ทำการบูชาพระบรมศาสดาด้วยการบูชาที่แท้จริง การบูชาอย่างอื่นนอกไปจากการปฏิบัติเพื่อน้อมนำธรรมเข้ามาบรรจุไว้ในดวงใจแล้ว พระบรมศาสดาหาได้ยกย่องไม่
การศึกษาธรรมตามหัวข้อข้างต้นนี้
หาได้ก่อภาระมากมายจนเหลือวิสัยที่คนทั่วไปจะศึกษาไม่
ท่านผู้หวังประโยชน์จากธรรมะในศาสนาของพระองค์จะได้ทำการศึกษา
พร้อมทั้งทำการพิสูจน์คุณค่าของธรรมะด้วยตนเอง
เนื่องด้วยธรรมในพระพุทธศาสนา จะสำเร็จประโยชน์แก่ผู้ที่ศึกษาได้
ก็ต่อเมื่อได้มีการนำเอาธรรมนั้นไปปฏิบัติด้วยตนเอง ด้วยเหตุฉะนี้
เมื่อพระบรมศาสดาได้ทรงประกาศค้นพบสัจธรรมของพระองค์ออกไปแล้ว
จึงได้บอกหนทางที่จะบรรลุธรรมอันจะสามารถดับความทุกข์ได้สิ้นเชิง
ให้บรรลุธรรมวิเศษนั้นด้วยหนทางและวิธีการปฏิบัติที่เราจำเป็นจะต้องศึกษา
ด้วยการทำความเข้าใจให้ถูกต้องนั้นคือ มรรค ๘ สติปัฏฐาน ๔ และวิปัสสนากรรมฐาน
ธรรมในพุทธศาสนาหากว่าตัดหรือทั้งหลักการทั้ง ๓ นี้เสียแล้ว
ก็จะเท่ากับตัดเอาความเป็นพุทธศาสนาหรือตัดพรหมจรรย์ของพระพุทธศาสนาออกไปทีเดียว อริยมรรคมีองค์ ๘
อันเป็นทางดำเนินให้ถึงความดับทุกข์นั้น เป็นสิ่งที่มีอยู่แต่ในพุทธศาสนาเท่านั้น ไม่มีอริยมรรคเช่นนี้ในศาสนาอื่น ความสำคัญยิ่งยวดของมรรค ๘ นี้
ย่อมเห็นได้จากพระดำรัสของพระบรมศาสดาที่ตรัสแก่นักบวชผู้หนึ่ง ก่อนหน้าจะปรินิพพานว่า ดูกร
สุภัททะในธรรมวินัยของศาสดาองค์ใดไม่ประกอบอยู่ด้วยธรรมอันเป็นเครื่องดำเนินไปอย่างถูกต้อง
๘ ประการ (คือมรรค ๘)
ในธรรมวินัยนั้นย่อมไม่มีบุคคลผู้เป็นโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี หรืออรหันต์ ในธรรมวินัยใดมีธรรมเป็นเครื่องดำเนินไปอย่างถูกต้อง
๘ ประการ ดังกล่าวแล้ว
ในธรรมวินัยนั้นย่อมมีบุคคลผู้เป็นโสดาบัน เป็นสกทาคามี อนาคามี และอรหันต์ ดูกร สุภัททะในธรรมวินัยของเรานี้ ประกอบอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องดำเนินอย่างถูกต้อง
๘ ประการดังกล่าวแล้ว
ในธรรมวินัยนี้จึงมีบุคคลผู้เป็นโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี และอรหันต์ ดูกร สุภัททะหาภิกษุสาวกของเรา
ยังคงปฏิบัติในธรรมเป็นเครื่องดำเนินไปอย่างถูกต้อง ๘
ประการนี้เพียงใดแล้ว
โลกนี้ก็จักยังไม่ว่างจากพระอรหันต์อยู่เพียงนั้น
สติปัฏฐาน
๔ คือ
ความมีสติตั้งมั่นอยู่ในการพิจารณา
กาย เวทนา จิต ธรรม
อันเป็นแนวปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมวิเศษนั้น
ก็เป็นแนวปฏิบัติที่มีแต่ในพุทธศาสนาเท่านั้น และพระบรมศาสดาได้ทรงยืนยันว่าเป็น
หนทางเดียวที่เป็นทางดำเนินไปเพื่อความบริสุทธิ์หมดจดของสัตว์ทั้งหลาย
เพื่อการก้าวล่วงเสียซึ่งความโศกและความร่ำไรรำพัน เพื่อความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมอันสัตว์พึงรู้ เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง
การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานก็คือ การเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔
เพื่อได้ดวงตาเห็นธรรมอันลึกในพุทธศาสนา การเห็นธรรมอันลึกก็คือ
การเห็นสภาวะธรรมตามความเป็นจริงมิใช่เห็นแต่เพียงมายาและสมมติแล้วก็หลงติดอยู่
อันเป็นเหตุให้ต้องจมอยู่ในกองทุกข์อย่างถอนตัวไม่ออกชั่วชีวิตแล้วชีวิตเล่า
บัดนี้ท่านผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเป็นเรื่องพื้นฐานของการเข้าถึงธรรมในพุทธศาสนาอย่างไร
และเป็นเรื่องที่คู่ควรแก่ผู้ที่เรียกตนว่า พุทธศาสนิกชนเพียงไร
แม้ว่าจะได้เล็งเห็นคุณค่าอันล้นพ้นของวิปัสสนากรรมฐานและใคร่จะอธิบายเรื่องนี้ให้ละเอียดสักหน่อย
ถึงเรื่องการเจริญวิปัสสนากรรมฐานแต่พอโดยย่อ
วิปัสสนากรรมฐาน มิใช่เป็นเรื่องของการนั่งหลับตา เพื่อให้เห็นภาพวิจิตรพิสดาร หรือเพื่ออิทธิฤทธิ์ใดๆ วิปัสสนากรรมฐานเป็นเรื่องของการศึกษาชีวิต
เพื่อที่จะปลดเปลื้องความทุกข์นานาประการออกเสียจากชีวิตหรือปลดเปลื้องชีวิตออกเสียจากความทุกข์ เป็นเรื่องของการค้นหาความจริงว่า ชีวิตนี้มันคืออะไรแน่
เหตุไฉนคนเราจึงควบชีวิตตะบึงไปบนถนนแห่งความชรา พยาธิ และมรณะ อย่างไม่ละลด
เหตุไฉนคนเราจึงไม่รู้สึกเบื่อหน่ายในชีวิตที่ผ่านมาในความเหี่ยวแห้งใจ
และคับแค้นใจผ่านมาในความสมหวังแล้วก็ผิดหวัง หัวเราะแล้วก็ร้องไห้ ด้วยหน้าตาชื่นแล้วก็กลับบูดบึ้ง
เหตุไฉนจึงไปลุ่มหลงกับการกระโจนขึ้นกระโจนลงของชีวิตที่ได้ผ่านมาในวิถีอันยืดยาว โดยไม่เคยสำนึกว่า มันมีอาการประดุจคนบ้า
เหตุไฉนตัวเราจึงได้พลอยเห็นดิบเห็นดีไปกับเขาด้วย
อะไรเล่าที่ผลักดันให้ชีวิตโลดแล่นไปอย่างน่าสมเพศเช่นนั้น
แล้วก็ยังทำให้เจ้าของชีวิตชื่นชมไปด้วยอาการที่คล้ายกับคนบ้าเช่นนั้น อะไรเล่าที่ทำให้ดวงหน้าที่หัวเราะร่าเริงอยู่เมื่อวานนี้ กลับนองน้ำตาไปในวันนี้
อะไรเล่าที่มาทำให้ลิ้นที่กล่าววาจาอ่อนหวานอยู่เมื่อชั่วโมงก่อน กลับมากล่าววาจาหยาบคายในชั่วโมงนี้
อะไรเล่าที่มาคอยแต่งความคิดของเราให้แปรเปลี่ยนไปมา ในระหว่างบาป บุญ คุณโทษ ไม่มียุติลงได้ อะไรเล่าคือตัวการที่คอยชักใยอยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้
ตามปกติ
เราอาจไม่เคยตั้งปัญหาเหล่านี้ขึ้นถามตนเองเลย
ตามปกติเราปล่อยให้ชีวิตดำเนินไปตามที่มันเคยดำเนินไปมาอย่างไรก็อย่างนั้น
เราปล่อยให้ความเคยชินนำชีวิตของเราไปตามที่มันได้นำมาปีแล้วปีเล่า จากวัยเด็กไปจนสู่วัยชรา
และเราก็เต็มใจที่จะปล่อยให้มันนำไปจนกระทั่งถึงเชิงตะกอน
ก็เป็นการเคราะห์ร้ายอยู่ที่เจ้าความเคยชิน อันความมอบหมายให้เป็นผู้นำชีวิตของเรานั้น
โดยทั่วไปแล้วมันมิได้ทำหน้าที่เป็นดวงประทีปให้เลย มันเป็นแต่ความมืดบอดและดังนั้น ก็ไม่เป็นที่น่าประหลาดใจที่มันได้นำชีวิตของเราเปะปะกระหืดกระหอบไปตามเรื่องของมัน
เราได้ปล่อยให้มันนำไปโดยที่เราไม่เคยสำนึกตัวว่า เราได้ตกเป็นทาสของมันอย่างโงหัวไม่ขึ้น และอย่างน่าสมเพศเหลือเกิน
การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
เป็นเรื่องของการตีปัญหาซับซ้อนของชีวิต ให้แตกกระจายออกไป จนมองเห็นความจริงในสิ่งต่างๆ ที่แตกกระจายออกไปนั้น เป็นเรื่องของการค้นหาความจริงของชีวิต
ตามวิธีการที่พระพุทธเจ้าได้ทรงกระทำมา คือเพ่งมองเข้าไปในชีวิตของตนเอง
เฝ้าดูการเคลื่อนไหวทั้งมวลภายในตัวของเราเอง เฝ้าสังเกตวิจารณ์แต่กุศลและอกุศลธรรม ที่ดำเนินไปในตัวของเราเอง
ด้วยการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน โดยใช้เวลาของการปฏิบัติทั้งหมด
เพ่งมองเข้าไปแต่ในชีวิตของตนเองดังนี้ ปัญหาต่างๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้น จะผุดขึ้นมาในความนึกคิดของเรา
และเราก็จะพบคำตอบปัญหาเหล่านั้นอย่าครบถ้วนและแจ่มแจ้ง เราจะพบชีวิตที่ปล่อยให้ความเคยชิน หรือใจที่ปราศจากสติที่นำไปนั้น
ช่างแตกต่างกันอย่างลิบลับกับชีวิตที่ผูกไว้กับสติ และปล่อยให้สติเป็นผู้นำวิปัสสนากรรมฐานเริ่มต้นด้วยการปลดแอกตัวเรา
เริ่มต้นด้วยการปลดปล่อยตัวเราจากความเป็นทาสของความเคยชิน หรือใจที่ไม่อยู่ในความควบคุมของสติ
นับตั้งแต่เริ่มการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ชีวิตของเราจักได้รับความเป็นไทย และเราจักทราบได้เองว่าตั้งแต่ชีวิตมาเราไม่เคยได้รับความเป็นไทยเช่นนี้มาก่อนเลย นับตั้งแต่เวลานั้นแทนความมืดบอด
เราก็ได้จุดดวงประทีปให้แก่ชีวิตของเรา ดวงประทีปนั้นแท้จริงก็มีประจำอยู่กับชีวิตของเรานั่นเอง แต่เราไม่ได้จุดมันขึ้น บางทีก็อาจเป็นด้วยเราไม่ทราบว่า เรามีดวงประทีปติดอยู่กับเรา เราพูดกันอยู่เสมอถึงคำว่า สติปัญญา เราใช้สติปัญญาอยู่เสมอก็จริง แต่สตินั้นแท้จริงแล้ว เรานำออกใช้น้อยนัก ทั้งที่สตินั้นมีคุณค่าแก่ชีวิต
และจำเป็นแก่ชีวิตที่มีคุณค่าอย่างเหลือที่จะประมาณได้ ประทีปดวงนั้นคือ สติ นับแต่เริ่มปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เราก็ได้จุดประทีปดวงนั้นขึ้น แสงสว่างจะค่อยกล้าขึ้น และโพลงขึ้นเป็นลำดับ จนถึงขั้นที่เราสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ
ที่แฝงอยู่ในความมืดและที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน
ตามปกติเราไม่ทราบดอกว่า
ความทุกข์ความเดือดเนื้อร้อนใจนานาประการ ที่เกิดขึ้นแก่ชีวิตของเรานั้น มันมีต้นเหตุมาจากอะไร และมันผ่านเข้ามาสู่ชีวิตโดยทางไหน
โดยทั่วไปเรามิได้เคยสนใจค้นคว้าหาเหตุผลในเรื่องนี้ และเราก็มักจะต้อนรับมัน โดยถือว่า
เป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตอันคนเราไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ แต่เมื่อเราเอาใจผูกไว้กับสติ
โดยไม่ปล่อยให้ใจท่องเที่ยวไปไหนต่อไหนตามความเคยชินของมันแล้ว
ความจริงบางอย่างก็จะปรากฏแจ่มแจ้งขึ้นมาในใจของเรา และก็จะตระหนักว่า ความทุกข์ร้อนใจต่างๆ นานานั้น มันมีต้นเหตุมาจากอะไร และมันผ่านเข้ามาสู่ชีวิตของเราโดยทางไหน
การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน คือ
การระดมเอาสติทั้งหมดที่มีอยู่ในตัวเราออกมาใช้ประโยชน์ในการดับทุกข์ ให้ได้ผลที่ดีที่สุดที่จะทำได้ และการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เราจะตระหนักในคุณค่าอันอัศจรรย์ของสติที่เราไม่เคยคิดเห็นเช่นนั้นมาก่อน
ใจที่ลำพองมีพยศและมีความตะกละตะกลามเหมือนกับไฟอันไม่รู้จักอิ่มด้วยเชื้อจะเชื่องลง และรู้จักจำกัดความต้องการของมัน เมื่อถูกสติเข้าถือบังเหียนไว้ การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน คือการอัญเชิญสติที่ถูกทอดทิ้งไว้ในความต่ำต้อยขึ้นมานั่งบนบัลลังก์ของชีวิต และเมื่อสติขึ้นสู่บัลลังก์แล้ว
ใจก็จะคลานเข้ามาหมอบถวายบังคมอยู่เบื้องหน้าสติ
สติจะบังคับมิให้ใจแส่ออกไปคบหากับอารมณ์ต่างๆ ภายนอก
และใจก็จะค่อยคุ้นกับการสงบอยู่กับอารมณ์อันเดียวที่สติคอยบังคับให้สงบอยู่
เมื่อใจตั้งมั่นดีแล้ว
การรู้ตามความเป็นจริงก็จะเป็นผลติดตามมา
และเมื่อนั้นแหละเราก็จะทราบได้ว่าความทุกข์มันมาจากไหน และจะสะกัดกั้นมันได้อย่างไร นั่นแหละคือผลงานของสติ นั่นแหละคืออานิสงส์ของวิปัสสนากรรมฐาน
ภายหลังที่ได้ทุ่มเทกำลังลงไปอย่างเต็มที่ จิตใจของผู้ปฏิบัติก็จะได้สัมผัสกับสัจจะแห่งสภาวะธรรมต่างๆ
อันผู้ปฏิบัติไม่เคยเห็นอย่างซึ้งใจมาก่อน
ผลงานอันมีค่าล้ำเลิศของสติบวกกับกำลังของสมาธิจิต จะทำให้เราเห็นอย่างแจ้งชัดว่า ความทุกข์ร้อนนานาประการนั้น มันไหลเข้ามาสู่ชีวิตของเรา ทางช่องทางทั้งหกคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย
ใจ นี้
ความทุกข์สารพัดชนิดรวมทั้งกุศลและอกุศลธรรมสารพัดชนิด ตลอดจนการกระทำบ้าบอคอแตกทุกชนิด ตัณหาทั้ง ๓ รูปและอกุศลมูลทั้ง ๓ ประการคือ โลภะ โทสะ โมหะ ก็มาจากช่องทางทั้ง ๖ นี้เท่านั้น และมิได้มาจาทางอื่นอีกเลย การสะกัดกั้นความทุกข์และบาปอกุศลทั้งปวง จึงจะต้องทำกันที่ช่องทางทั้งหมดนี้ จะต้องสร้างทำนบขึ้น ณ ที่แห่งนี้ และตัวทำนบนั้น ก็คือสติอีกนั่นแหละ
พุทธศาสนาเรียกช่องทางทั้ง
๖ นี้ว่า อายตนะ แปลว่าที่ต่อ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คืออายตนะภายใน ๖ ทุกข์และบาปอกุศลดำเนินเข้ามาสู่ชีวิตโดยอายตนะหรือที่ต่อภายในทั้ง
๖ นี้
เข้าทำการติดต่อกับอายตนะภายนอก
คือที่ต่อภายนอก ๖ อย่าง
ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ธรรมารมณ์
อายตนะภายในและภายนอกรวม ๑๒ นี้
เข้าติดต่อกันเป็นคู่ๆ ตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายกับโผฏฐัพพะ (ได้แก่สิ่งที่มาถูกต้องกาย) ใจกับธรรมารมณ์ เมื่ออายตนะคู่ใดคู่หนึ่ง ติดต่อกันเข้าแล้ว จิตก็เกิดขึ้น
ความติดต่อกันระหว่างอายตนะภายในและภายนอกนี้เอง เป็นที่เกิดของจิต และ ณ ที่นี้เองที่เราได้ทราบว่า
จิตมิใช่เป็นสิ่งที่มีตัวตนเป็นเอกเทศ จิตได้เกิด ณ ที่นี้ และได้ดับลงไป ณ ที่นี้เช่นกัน การที่เรารู้สึกเหมือนหนึ่งว่า จิตเป็นตัวตน เป็นจิตของเรา มีอยู่เป็นเอกเทศนั้น ก็เพราะว่าการดับของจิตเป็นสันตติ คือเกิดดับสืบเนื่องกันอยู่ไม่ขาดสาย การใช้ชีวิตแบบตะบึงไปกับชีวิตนั้น จะไม่มีทางทราบถึงความไม่มีตัวตนของจิต หรือความเกิดดับของจิต ที่เป็นอยู่เป็นนิจได้เลย ต่อเมื่อเราได้นั่งลงทำการกำหนดรูป-นาม ตามระบบของวิปัสสนากรรมฐาน
ทำความสำรวมสติและสำรวมจิตอย่างมั่นคง จนสติไพบูลย์แล้ว จนจิตตั้งมั่นดีแล้ว เราจึงจะรู้เห็นความเกิดดับของจิต รวมทั้งรู้เห็นสภาวะธรรมต่างๆ ตามความเป็นจริง
เมื่ออายตนะภายในและภายนอกติดต่อกัน เป็นต้นว่า ตากระทบรูป เกิดจักขุวิญญาณ คือ เกิดจิตที่อาศัยจักขุขึ้นแล้ว แต่นั้นเจตสิกต่างๆ ก็เกิดติดตามมา กล่าวคือจำรูปนั้นได้ พอใจหรือไม่พอใจรูปนั้น และทำความคิดนึกต่างๆ เกี่ยวกับรูปนั้นครั้นแล้วโลภะ โทสะ โมหะก็เกิดขึ้น บันดาลอกุศลกรรมต่างๆ
ให้เกิดติดตามมา การประทุษร้าย
การทำทุจริตคอรัปชั่นและความประพฤติชั่วร้ายอารมณ์ต่างๆ ก็เกิด ณ
ที่ตรงนี้ทั้งนั้น
ตรงอายตนะคือที่ต่อทั้ง ๖ นี้แหละ
คือที่เกิดและไหลเข้ามาสู่ชีวิต
ซึ่งกระแสแห่งความทุกข์และก็ ณ ที่ตรงนี้อีกเหมือนกัน จะเป็นที่ดับของจิตและอกุศลธรรมทั้งปวง
การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน โดยเอาสติเข้าไปตั้งกำกับจิตตามช่องทาง ๖
นั้น
เมื่อปฏิบัติได้ผลแก่กล้าแล้ว
ก็จะเข้าตัดที่ต่อทั้ง ๖ คู่นั้น
มิให้ต่อกันติดได้
ถือว่าเมื่อเห็นรูปก็สักแต่ว่าเห็น
เมื่อได้ยินเสียง
ก็สักแต่ว่าได้ยินไม่ทำความรู้สึกนึกคิดปรุงแต่งให้เกิดความพอใจ
หรือไม่พอใจในสิ่งที่มาปรากฏให้เห็นและให้ได้ยิน
รูปและเสียงที่ได้เห็นได้ยินนั้นก็ดับไป เกิดและดับอยู่ ณ ที่นั้นเอง ไม่ไหลเข้ามาภายใน อกุศลธรรมและความทุกข์ร้อนใจที่คอยจะติดตามหลังรูปและเสียง อายตนะภายนอกอื่นๆ เข้ามาก็เข้ามาไม่ได้ต้องจนแต้มอยู่ ณ
ที่นั้นเอง
สติที่เกิดขึ้นขณะปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้น
นอกจากจะคอยสกัดกั้นอกุศลธรรมและความทุกข์ร้อนใจ ที่จะเข้ามาในทางอายตนะภายในทั้ง ๖
แล้ว ยังเพ่งอยู่ที่รูปกับนาม
เมื่อเพ่งอยู่ก็ย่อมเห็นความเกิดดับของรูปนาม ที่ดำเนินไปตามทวารทั้ง ๖ อย่างไม่ขาดสาย การเห็นการเกิดดับของรูปนามนั้น
จักนำไปสู่การเห็นไตรลักษณ์
คือความไม่เที่ยง
ความทุกข์
และความไม่มีตัวตนของสังขารหรืออัตภาพอย่างแจ่มแจ้ง
ใคร่จะขอย้ำไว้ในที่นี้ว่า
ในบรรดาธรรมทั้งหลายที่พระบรมศาสดาได้ทรงแสดงตักเตือนสั่งสอนมหาชนนั้น พระบรมศาสดาได้ทรงยกย่องธรรมคือ สตินี้ว่ามีคุณค่าอันล้ำเลิศ ได้ทรงสั่งสอนธรรม คือสตินี้อยู่เนืองนิจ ครั้งหนึ่งเมื่อมีผู้ทูลถามว่า กระแส (คือความอยาก) ทั้งหลาย ย่อมหลั่งไหลไปตามอารมณ์ทั้งปวง
อะไรเป็นดุจทำนบเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้น พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า การกระแสทั้งหลายเหล่าใดในโลก สติเป็นดุจทำนบเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้น
ต่อข้อถามที่ว่า
กระแส (คือความอยาก) เหล่านั้น
อันผู้ปฏิบัติจะละเสียได้ด้วยธรรมอะไร? ตรัสตอบว่า กระแสเหล่านั้น ผู้ปฏิบัติจะละเสียได้ด้วยปัญญา และปัญญาดังกล่าวนี้ก็คือ
วิปัสสนาปัญญา หรือที่เรียกว่า ภาวนามัยปัญญา
แต่อาตมาคาดหมายว่า
การกล่าวถึงเรื่องวิปัสสนากรรมฐานแต่โดยย่อนี้
จะทำให้ท่านทั้งหลายที่ยังไม่คุ้นเคยกับเรื่องนี้มาก่อน สามารถเล็งเห็นคุณค่าอันอัศจรรย์ของวิปัสสนากรรมฐาน ตามที่มีอยู่โดยแท้จริง อาตมาหวังแต่เพียงว่า แสดงมานี้อาจจะช่วยให้ท่านทั้งหลาย
เกิดความสนใจในเรื่องวิปัสสนากรรมฐานในทางที่ถูกต้องขึ้นบ้าง
และทำการขวนขวายศึกษาในเรื่องนี้ต่อไป โดยการแสวงหาหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้มาอ่านด้วยมนสิการ
หรือไปไต่ถามขอความรู้เพิ่มเติมโดยตรงจากคณะพระอาจารย์หรือท่านที่ทรงคุณวุฒิในทางนี้
ณ ที่หนึ่งที่ใด
หากได้ผลเพียงเท่านี้อาตมาก็จะมีความยินดีอย่างยิ่ง
การพิจารณาความเป็นไปของชีวิต แล้วน้อมเข้ามาเทียบกับหลักธรรม ทำความพินิจใคร่ครวญอยู่เนืองๆ ซึ่งอาจกระทำได้โดยไม่เลือกเวลา และสถานที่นั้น
ก็ถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติธรรมเหมือนกัน และก็เป็นสิ่งที่น่าอนุโมทนา แต่ผลที่ได้นั้นจะไม่หนักแน่นแน่นอน เหมือนวิธีปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ อันได้รับการทดลองพิสูจน์มาแล้ว ทั้งกว่าจะได้ผลถึงขีดขั้นที่ปรารถนาก็อาจต้องการเวลายาวนาน ส่วนการปฏิบัติธรรม โดยทางปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
อันมีระเบียบวิธีตรงตามที่พระบรมศาสดาจารย์ได้บัญญัติไว้นั้น
เป็นทางดำเนินที่มีหลักประกันอันแน่นอน
สามารถยังผู้ปฏิบัติให้ได้ดวงตาเห็นธรรมในระยะเวลาไม่นานนัก สมควรที่พุทธศาสนิกชน ผู้ถึงความไม่ประมาท จะพึงน้อมชีวิตเข้ามารับเอาประโยชน์ นอกจากนั้นแล้ว อินทรีย์ทั้ง ๕ เฉพาะอย่างยิ่ง สติและสมาธิ
อันผู้ปฏิบัติถ้าเจริญจนแก่กล้าในระหว่างการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้น จักมาคอยรับใช้ ปกป้องคุ้มครอง
การดำเนินชีวิตของผู้ปฏิบัติในการต่อไป สมดังพุทธภาษิตที่ว่า ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ในยามผู้ปฏิบัติประพฤติทางโลก อันพบด้วยโทษภัยนานาประการ
หากความขุ่นมัวเศร้าหมองเหล่านั้นจะเข้ามาประคบประคองผู้ปฏิบัติมิให้เซล้มลุกคลุกคลานไปกับความขุ่นมัวเศร้าหมองดังในกาลก่อน สติจะเข้ามากระซิบบอกทางอันปลอดภัยและการนั่งลงกำหนด ทำสมาธิในระยะเวลาหนึ่ง จะขับเมฆแห่งความขุ่นมัวเศร้าหมอง ที่เข้ามาบดบังใจไว้กระจายจางไป
แล้วความแจ่มใสจะปรากฏขึ้นมาแทนที่กล่าวโดยสรุปก็คือ
การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจักหัดหาที่พึ่งพำนักอันเกษมให้แก่จิตใจที่อ่อนเปลี้ยไปเพราะโมหะเข้าครอบงำในบางครั้งคราว
การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้น จะกล่าวอีกทางหนึ่งก็คือ เป็นการปรับชีวิตเข้าปฏิบัติ ๓ ข้อ ที่เป็นหัวใจพุทธศาสนาคือ
๑.การไม่กระทำความชั่ว คือบาปทั้งปวง
๒.การกระทำแต่กุศล คือความดีให้เต็มเปี่ยม
๓.การชำระจิตของตนให้ผ่องแผ้ว
ผู้ปฏิบัติจะได้ปณิธานในการดำเนินชีวิตไปตามหลักธรรม
๓ ข้อนี้
หากว่าในอนาคตเขาจะได้ประพฤติการพลาดพลั้งลงไปไม่กลมกลืนกับหลักธรรม ๓
ข้อนี้
ก็จะมีความเสียใจและรู้จักตักเตือนตัวเอง
การปฏิบัตินั้น จะได้รับผลมากน้อยเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่แก่พลังของอินทรีย์ ๕ คือ
ศรัทธา วิริยะ สติ
สมาธิ ปัญญา ของผู้ปฏิบัติแต่ละคน
ถึงมาตรว่าจะไม่ได้รับผลขั้นสูงก็ย่อมจะได้รับผลตามส่วนตามลำดับอันผู้ปฏิบัติจะตระหนักได้เอง จากการเปรียบเทียบดูจิตใจของเขาในระหว่างสองวาระ
คือจิตใจก่อนหน้าการปฏิบัติและจิตใจหลังการปฏิบัติ การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้น เป็นเรื่องของการวิจารณ์ตัวเอง วิเคราะห์ตัวเอง สำรวจดูบาปอกุศลในตัวเอง ด้วยการเพิ่งพินิจ อันแน่วแน่ลึกซึ้ง เป็นการค้นดูผงในดวงตาของตน หยุดการแส่ไปเที่ยวติเตียนผงในดวงตาของคนอื่น
ในขณะที่ไม้ทั้งท่อนปรากฏอยู่ในดวงตาของเรา ดังที่พระเยซูได้สั่งสอนศานุศิษย์ของพระองค์
คุณธรรมใดที่จะพึงบรรลุได้จากการปฏิบัติ ย่อมเป็นไปในทางข้าศึกต่อมานะ คือความถือตัวทะนงตัว
และจะยังผู้ปฏิบัติให้ตั้งอยู่ในความสงบเสงี่ยม
การผ่านการปฏิบัติไปแล้วในชั่วระยะเวลาอันสั้นระยะหนึ่งไม่จำเป็นจะต้องหมายความว่า ผู้ปฏิบัติได้เขี่ยผงออกหมดแล้ว ผู้ปฏิบัติแต่ละคนย่อมทราบได้เองว่า
เขาได้เขี่ยผงออกจากดวงตาของเขาไปได้มากน้อยเพียงใด
และเขาควรจะวางมือเสียจากการพยายามเขี่ยผงในดวงตาต่อไปหรือไม่ ความระคายเคืองความสบายตาของเขา จะเป็นผู้บอกกับเขาเอง อาตมามีความเห็นว่าการเขี่ยผงในดวงตานั้น
เป็นกิจที่ควรจะดำเนินสืบต่อกันไปด้วยความใส่ใจและด้วยความไม่ประมาทจนตลอดชีวิต หากเรายังบอกแก่ตัวเองอย่างซื่อตรงได้ว่า ยังมีผงติดอยู่ในดวงตาของเรา
สำหรับท่านที่ยังมิได้เข้ามาทดลองปฏิบัติเพื่อพิสูจน์สัจจธรรมของพระบรมศาสดานั้น หากท่านประสงค์จะฟังคำชักชวนจากผู้ปฏิบัติสักสองสามคำ อาตมาใคร่จะขอเสนอคำชักชวนดังนี้ ในเบื้องต้นของท่านจงถามตัวเองว่า มีสักวันหนึ่งไหมในชีวิตของท่าน
ที่ท่านได้ใช้ไปด้วยการตามระวังรักษาจิต
และประคองจิตของท่านให้น้อมไปแต่ในทางกุศลตลอดวัน? มีสักชั่วโมงหนึ่งไหมที่ท่านได้ใช้สติ เฝ้าดูการดำเนินของจิต เฝ้าดูปฏิกิริยาอันสับสนของจิต ที่มีต่ออารมณ์ภายนอกตลอดหนึ่งชั่วโมง? หากท่านไม่เคยทำดังนี้เลย ท่านจะไม่นึกเสียดายหรือว่า
ตลอดเวลานานปีในชีวิตของท่านเต็มใจที่จะใช้เวลาเหล่านั้นไปได้สารพัดอย่างไม่เลือกว่า จะเป็นไปในทางที่เป็นสาระหรือไม่เป็นสาระ
แต่ท่านมิได้ยอมใช้เวลาแม้แต่สักวันหนึ่งหรือเพียงชั่วโมงหนึ่ง เพื่อพิสูจน์บรมสัจธรรมของพระพุทธเจ้า
ซึ่งก็เป็นการแสวงหาหลักประกันในการดับหรือบรรเทาความทุกข์ร้อนใจอย่างได้ผลให้แก่ตัวท่านเอง ถ้าท่านมีศรัทธาต่อพุทธศาสนา ท่านจะไม่นึกเสียใจหรือว่า ท่านยังมิได้ทำการบูชาพระพุทธเจ้า ด้วยการปฏิบัติบูชา อันเป็นบูชาที่พระองค์ปรารถนาเลย
เวลาที่ได้ใช้ไปในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน แม้ว่าจะเป็นระยะเวลาอันสั้นๆ เพียงสัก ๑ เดือนก็ตาม
จะเป็นเวลาที่ท่านจะมีโอกาสกล่าวได้ว่า เป็นเวลาหนึ่งเดือนที่ท่านได้เรียนรู้ถึงความดำเนินแห่งชีวิตของท่านอย่างมีคุณค่าที่สุด
และไม่เคยมีการใช้เวลาหนึ่งเดือนที่ล่วงแล้วมาในชีวิต ที่จะมีความหมดจดงดงาม
เสมอด้วยหนึ่งเดือนของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
ขอท่านทั้งหลาย
ตัดสินใจเอาเองเถิด
เพื่อความเข้าใจอันถูกต้องในธรรมของพระบรมศาสดา อาตมาเห็นสมควรจะกล่าวไว้เสียด้วยว่า
ธรรมอันลึกที่พระโลกนาถปรารถนาให้เวไนยสัตว์ได้บรรลุนั้น เป็นธรรมที่ทวนกระแสของชีวิต เป็นธรรมที่ย้อมใจปุถุชนทั่วไป
มิใช่เป็นธรรมที่คล้อยไปตามความปรารถนา และความเคยชินของชีวิตของปุถุชน อันไหลไปตามกระแสของตัณหา
ซึ่งเป็นเหตุให้ชีวิตต้องหมกจมอยู่ในกองทุกข์จึงจำเป็นผู้ที่จะเข้าสู่ธรรมของพระองค์ จักทำการศึกษาด้วยความเพ่งพินิจสักหน่อย ดังที่พระบรมศาสดาได้ตรัสไว้ว่า เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย รูป (เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
และธรรมารมณ์) เป็นที่ยินดี กำหนัดแล้วในรูปบันเทิงด้วยรูป เทวดาและมนุษย์ย่อมทนทุกข์อยู่
เพราะความแปรปรวนความกระจัดกระจายความแตกทำลายของรูป ส่วนตถาคตเป็นผู้รู้แจ้งตามเป็นจริง ซึ่งเหตุเป็นเครื่องเกิดขึ้น ซึ่งความตั้งอยู่ไม่ได้ ซึ่งรสอร่อย ซึ่งโทษคือความต่ำทราม และอุบายเครื่องหลุดพ้นไม่ได้แห่งรูป
(เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์)
ทั้งหลายแล้วไม่เป็นผู้มีรูป
เป็นที่ยินดี ไม่กำหนัดในรูป ไม่บันเทิงในรูป ตถาคตย่อมอยู่เป็นสุข เพราะความแปรปรวน ความกระจัดกระจาย ความแตกทำลายของรูป
รูป
เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ทั้งหลายทั้งสิ้น อันน่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าชอบใจ ยังเป็นสิ่งกล่าวได้ว่า มีอยู่เพียงใด
มนุษย์โลกพร้อมด้วยเทวโลกก็ยังสมมติว่า นั่นสุขอยู่เพียงนั้น
ถ้าเมื่อสิ่งเหล่านั้นแตกดับลงในที่สุด สัตว์เหล่านั้นก็สมมติว่า นั่นทุกข์ในที่นั้น สิ่งที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย เห็นว่าเป็นความสุขก็คือ ความดับสนิทแห่งสักกายะ (กายของตน)
ทั้งหลาย
แต่สิ่งนี้กลับปรากฏเป็นข้าศึกตัวร้ายกาจแก่สัตว์ทั้งหลาย ผู้เห็นอยู่โดยความเป็นโลกทั้งปวง
สิ่งใดที่สัตว์อื่นกล่าวแล้วโดยความเป็นสุข พระอริยเจ้ากล่าวสิ่งนั้นโดยความเป็นทุกข์
สิ่งใดที่สัตว์อื่นกล่าวแล้วโดยความเป็นทุกข์
พระอริยเจ้าผู้รู้กล่าวสิ่งนั้นโดยความเป็นสุข ดังนี้
การประกาศสัจธรรมของพระศาสดา เป็นการประกาศความจริงอันลึกในชีวิต ธรรมของพระศาสดา
จึงเป็นธรรมที่ทวนกระแสของชีวิตปุถุชนอันไหลไปสู่ความเป็นโลกทั้งปวง อยู่เป็นนิจ
การปฏิบัติวิปัสสนาเป็นการพยายามว่ายทวนกระแสน้ำแห่งชีวิต
ด้วยกำลังมือและเท้าทั้งหมดของผู้ปฏิบัติ อันมีบรมศาสน์ติ อนัตกาลเป็นที่หมาย แม้ไม่ถึงที่หมาย ก็จะจักได้รับผลคือ
ความสงบเย็นของจิต ส่วนที่ได้ทวนกระแสขึ้นไปได้
เป็นกิจที่ต้องการพลังอินทรีย์ทั้ง
๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ
สมาธิ ปัญญา อันพุทธศาสนิกชนจักทำให้บริบูรณ์ ได้ด้วยการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
ใครๆ
มักจะมีความเข้าใจกันว่า
สมาธิเป็นเรื่องของผู้ใหญ่มิใช่เรื่องของเด็กๆ หนุ่มๆ สาวๆ
หรือมีความสำคัญยิ่งขึ้นไปกว่านั้นว่า คนเฒ่าคนแก่จึงควรทำสมาธิ พระมีอายุพรรษามากๆ นั่นแหละจึงควรทำ มิใช่เรื่องของพระหนุ่มๆ เณรใหญ่ๆ
เณรน้อยๆ ความเข้าใจอย่างนี้ มีประจำอยู่ในความนึกคิดของคนโดยมาก ทั้งที่เป็นพระและมิใช่ เพราะเรื่องของคนตั้งใจอยู่ที่แต่จะประพฤติตามใจตัว ถ้าตามใจตัวเองได้เท่าใด ก็ได้รับความสบายใจเท่านั้น
มิได้นึกคิดว่าการปล่อยตัวไปตามอำเภอใจนั้น ในบางครั้งอาจนำให้เข้ารกเข้าพงก็ได้ จึงควรทำความเข้าใจเสียใหม่ว่า สมาธิเป็นเรื่องจำเป็นของคนทุกคน ทุกเพศ
ทุวัย ทุกชั้น
สมาธิคืออะไร?
ปทานุกรม ให้คำอธิบายว่า ความตั้งมั่นแห่งจิต การติดต่อความสำเร็จ ความจัดแจง การแต่งตัว การสำรวมใจ การเพ่งเล็ง การแน่วแน่ ความตริตรอง อย่างเคร่งเครียดในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
คำอธิบายเหล่านี้
ล้วนแต่แสดงลักษณะของสมาธิให้เห็นความหมายและความสำคัญที่มีอยู่ในสมาธินั้นทั้งสิ้น เพียงแต่ความตั้งมั่นแห่งจิต ซึ่งเป็นคำอธิบายท่อนแรก
ก็มีความหมายลึกซึ้งและแสดงให้เห็นว่า สมาธินั้นเกี่ยวกับจิตเพราะว่า ความตั้งมั่นจะมีได้ย่อมตั้งอยู่ในจิต การทำจิตให้มั่นคง
ไม่ให้ฟุ้งซ่านไม่ให้กวัดแกว่งให้ตั้งอยู่ในอารมณ์เดียว ไม่เกาะเกี่ยวด้วยสิ่งอื่น ไม่ให้เป็นไปตามกระแสของสิ่งต่างๆ ที่ได้ประสบด้วยตา หรือหู หรือจมูก หรือลิ้น หรือกาย หรือใจ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้ง ๖ นี้มีชื่อเรียกตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนาว่าอินทรีย์ คำว่าอินทรีย์ แปลว่า เป็นใหญ่ คือเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน ตาเป็นใหญ่ในการดู หูเป็นใหญ่ในการฟัง ลิ้นเป็นใหญ่ในการลิ้ม กายเป็นใหญ่ในการถูกต้อง ใจเป็นใหญ่ในการรู้ ดู ฟัง ดม ลิ้ม ถูกต้อง รู้ เป็นหน้าที่ของอินทรีย์ทั้ง ๖ ตั้งละอย่าง
อินทรีย์ทั้ง
๖ นี้
จะขาดเสียอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้
ถ้าขาดไปสักอย่างหนึ่งก็ทำให้คนเป็นคนไม่สมบูรณ์ สมมติว่าตาบอดไปข้างหนึ่งก็ทำให้แลไม่เห็นถนัด และทำให้ขาดความสวยงามไป ยิ่งกว่านั้น ถ้าบอดเสียทั้งสองข้าง ก็แลไม่เห็นอะไรเลย ทำให้ความเป็นคนบกพร่องไป และเป็นคนยังไม่เต็มที่ มิหนำซ้ำจะเรียนหนังสือกับเขาก็ไม่ได้
เพราะการเรียนหนังสือต้องใช้อินทรีย์คือตา เป็นส่วนสำคัญกว่าส่วนอื่น หูก็เหมือนกัน ถ้าสมมติว่าหนวก ก็คงไม่ได้ยินอะไร ไม่รู้ว่าเสียงของมนุษย์เป็นอย่างไร ของสัตว์เป็นอย่างไร และก็คงขาดประโยชน์ในการฟัง ในการเล่าเรียนไปอีกอย่างหนึ่ง จมูก ลิ้น กาย ถ้าพิการไปเสียก็ไร้ประโยชน์ ตามหน้าที่ไปอย่างหนึ่งๆ และใจซึ่งเป็นอินทรีย์ที่ ๖
อันเป็นอันดับสุดท้ายก็มีหน้าที่ประจำอยู่อย่างสำคัญในการรับรู้เรื่องราวต่างๆ อันเกิดจากอินทรีย์ทั้ง ๕ ข้างต้น ถ้าขาดไปเสียก็เหมือนคนหมดสติ กลายเป็นคนบ้าคนบอ
เพราะไม่รู้เรื่องอะไรว่าจะดีหรือร้าย ทำการวิปริตผิดแปลกไปจากคน ผู้มีอินทรีย์ ๖ ครบบริบูรณ์ อินทรีย์ทั้ง ๖ นี้จึงนับว่า
เป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ทำคนให้เป็นคนอย่างสมบูรณ์ทีเดียว และเป็นหลักที่จะนำสมาธิให้มีได้
การสำรวมอินทรีย์ ๖
อินทรีย์ทั้ง
๖ ย่อมมีอาการต่างๆ ตามหน้าที่
โดยปกติมีอยู่อย่างไรและย่อมดึงดูดสิ่งต่างๆ ได้ทุกอย่างทุกชนิด ที่จะพึงเห็นด้วย เป็นต้น เมื่อลืมตาออกแล้ว ตาย่อมเห็นอะไรได้ทุกอย่างทุกชนิด เพราะตามีหน้าที่สำหรับดู
ดูอะไรได้เสมอโดยไม่เลือกว่าจะดีหรือร้าย หรืองามและไม่งาม รับดูได้ทั้งนั้น อย่างไม่อั้นประตู หูฟังเสียงได้ทุกอย่างทุกชนิด มิได้เลือกว่าเป็นเสียงอะไร เพราะไพเราะหรือไม่ไพเราะ ดังสนั่นหรือดังตามปกติ หูก็รับฟังได้ทั้งสิ้น อย่างไม่อั้นประตู จมูกสูดกลิ่นได้ทุกอย่าง จะเป็นกลิ่นหอมหรือเหม็น ถ้ามีกลิ่นอะไรผ่านมา จมูกก็รับไว้ทั้งนั้น อย่างไม่อั้นประตู ลิ้นลิ้มรสอาหารหรืออย่างอื่น ซึ่งจะมีรสเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เผ็ด ขม
อย่างใดอย่างหนึ่ง
ลิ้นก็รับได้ทั้งสิ้น
อย่างไม่อั้นประตู
กายจะถูกต้องสัมผัสกับอะไรๆ ก็ได้ทั้งสิ้น อย่างไม่อั้นประตู ใจก็เช่นเดียวกัน รับรู้สารพัดทุกอย่าง ที่เข้ามาสู่ห้วงแห่งความนึก จะเป็นอารมณ์ที่น่าชอบหรือไม่ชอบ น่าใคร่หรือไม่น่าใคร่ น่าปรารถนาหรือไม่น่าปรารถนา รับรู้ได้ทั้งสิ้น อย่างไม่อั้นประตู เรื่องที่เป็นเช่นนี้ ย่อมเป็นไปตามหน้าที่ของอินทรีย์ทั้ง ๖
นั้น
เพราะธรรมชาติสร้างมาไว้อย่างนั้น
แต่กำลังแห่งจิตใจที่เป็นผู้รับนี้สิ
มีความสำคัญอย่างที่สุด
ในอันที่จะมีอาการเป็นไปตามเรื่องราว
ย่อมทำให้บังเกิดความเสียหายขึ้นได้
แต่ถ้าไม่ปล่อยให้เป็นไปตาม
ย่อมทำให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่ง
การปล่อยอินทรีย์ทั้ง ๖
ให้เป็นไปตามเรื่องราว
ย่อมทำให้ได้รับโทษอย่างใหญ่หลวง
เพราะไม่พยายามที่จะสำรวมระมัดระวังไว้ด้วยดี และอาจถึงแก่ความสิ้นชีวิตได้ เพราะความประมาท
ประดุจดังได้กล่าวมาแล้ว เรียกว่าขบวนการในกายของมนุษย์นั้น เบญจขันธ์ ซึ่งแต่ละขันธ์มีอำนาจหน้าที่ต่างกัน รูปเกี่ยวกับรูป เวทนาเกี่ยวกับเรื่องสุขทุกข์ ไม่ทุกข์ไม่สุข สัญญาเกี่ยวกับความจำ สังขารเกี่ยวกับเรื่องว่าดี-ชั่ว ไม่ดีไม่ชั่ว วิญญาณเกี่ยวกับความรู้ทางทวารทั้ง ๖
อนึ่งนายแพทย์ผู้หนึ่งได้อธิบายไว้ในหนังสือชาวพุทธ ฉบับปีที่ ๕ ว่าบนศีรษะมีมันสมองสามฟ่อน คืออยู่ข้างละฟ่อน
ส่วนฟ่อนที่สามอยู่ตรงกลางข้างบนศีรษะ เป็นสีเทา ในการทดลองขณะผ่าตัด ปรากฏว่าเมื่อเลิกมันสมองสีเทานี้ขึ้นเสียแล้ว
ระบบประสาททั่วสารพางค์กายหยุดทำงานหมดทั้งสิ้น ซึ่งก็แปลว่าประสาททวารทั้ง ๕ ที่ตา หู
จมูก ลิ้น กาย ไม่ทำการรายงานสิ่งที่มากระทบไปตามหน้าที่ๆ
กฎธรรมชาติมอบหมายไว้
ดุจดังได้กล่าวมาแล้วนั้น
อาตมาขอยกตัวอย่างขึ้นประกอบการวินิจฉัยของท่านผู้ฟังดังนี้ สมมติว่า
ตามองเห็นดอกกุหลายบานสะพรั่งบนต้นที่ปลูกไว้ด้วยความถนุถนอมเป็นอย่างดี
ประสาทหัวเหาที่ดวงตาดำจะรายงานไปยังมันสมองทันที ไปเร็วยิ่งกว่าเสียงหลายร้อยเท่าพันทวี
ดุจดังหนุมานทหารเอกพระรามเหาะไปเร็วลัดนิ้วมือเดียวก็ถึงที่หมายปลายทาง ส่วนมันสมองก็บอกรายงานส่งต่อไปยังกองบัญชาการของนามธรรม ตามความเข้าใจนั้น มันสมองเป็นเพียงบุรุษไปรษณีย์ หาใช่เป็นผู้บงการโดยพละการไม่ มันสมองเป็นเพียงรูปธรรม สมองกับใจเป็นคำที่ใช้แทนกันได้เสมอ ทั้งในภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และบาลี เพราะทั้งสองสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดที่สุด
เมื่อมันสมองอันเป็นที่รวมจุดปลายทางของประสาทต่างๆ บอกรายงานไปยังกองบัญชาการ อันเป็นที่รวมของนามธรรมแล้ว
ก็เป็นหน้าที่ของสัญญาขันธ์ผู้เป็นยอดแห่งความจำ จะพิจารณาว่ารูปลักษณะตามรายงานนั้น ทางโลกสมมติเรียกว่าอะไรกัน จากความจำที่เป็นผู้ชำนาญการนี้จะบอกได้ทันทีว่า เป็นดอกกุหลาย แล้วก็ส่งเรื่องต่อไปยังเวทนาขันธ์ ผู้ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาว่า อะไรจะให้สุข อะไรจะให้ทุกข์ อะไรไม่ให้ทุกข์ไม่ให้สุข คือ เฉยๆ เวทนาขันธ์ผู้รับเสวยอารมณ์จะว่า ดอกกุหลาบนั้นสวยงามเจริญตาเจริญใจ จะให้ความสุขแห่งจิตใจของมวลมนุษย์ เมื่อได้พบได้ชม คราวนี้ก็เป็นหน้าที่ของสังขารขันธ์ จะพิจารณาว่า ดอกกุหลาบ อันมีรูปลักษณะสวยงามนั้น ดีหรือชั่ว หรือไม่ดีไม่ชั่ว และเมื่อเห็นว่าเป็นที่ยินดีแกมวลมนุษย์ก่อเกิดอิฏฐารมณ์ให้แก่เขา ก็เป็นหน้าที่ต่อไปในฐานะผู้ปรุงแต่ง จะรายงานแก่วิญญาณขันธ์ว่า ควรนำมาประดับบ้านเรือนห้องต่างๆ เช่นใส่แจกัน เป็นต้น
เมื่อวิญญาณขันธ์ได้รับรายงานชั้นสุดท้ายจากสังขารขันธ์ ก็มีหน้าที่พิจารณาว่า คำบอกรายงานของขันธ์ทั้งสามนั้น ชอบแล้วหรือไม่
ถ้าเห็นชอบด้วยก็จะแจ้งไปยังมันสมองให้สั่งการตามประสงค์
มันสมองก็จะให้มือไปจับดอกกุหลาบมาปักแจกัน ตามประสงค์ของวิญญาณขันธ์ และเพราะมือเป็นรูปขันธ์
กับทั้งประสาทหัวเหาในดวงตาดำก็เป็นรูปขันธ์ จึงกล่าวได้ว่า ขันธ์ทั้ง ๕ เป็นผู้ดำเนินการ ร่วมกันในกายมนุษย์
แต่การที่ได้ดอกกุหลาบมาประดับห้องให้สวยงามนั้นเป็นโลภะ ตามปรมัตธรรม นักปฏิบัติต้องพิจารณาแต่เพียงว่า สิ่งที่หัวเหาในดวงตาดำเห็นนั้น เป็นเพียงสีจะสีอะไร มีลักษณะอย่างไรก็ช่างเถิด
เมื่อประสาทหัวเหารายงานผ่านมันสมองไปยังกองบัญชาการนามธรรม (สัญญา เวทนา สังขาร วิญญาณ) แต่เพียงเท่านี้ ผู้มีอำนาจสูงสุดในกายมนุษย์คือ สติสัมปชัญญะ ก็จะบงการทันทีว่า อย่าไปแยแสอะไรกับมัน เมื่อเช่นนี้อิฏฐารมณ์ก็ไม่เกิด ไม่เป็นโลภะ ไม่ก่อให้เกิดกิเลส
วิญญาณขันธ์ก็จะไม่สั่งผ่านมันสมองให้รูปขันธ์คือมือ ไปเด็ดดอกกุหลาบมาประดับห้องรับแขก ดังกล่าวข้างต้น อยู่ในสังโยชน์ ๑๐ เรียกว่า
กามราคสังโยชน์
เกิดขึ้นแก่ผู้ยินดีต่ออิฏฐารมณ์ทางทวารทั้ง ๖
ซึ่งในกรณีนี้เกิดขึ้นทางจักขุทวารตรงกันข้ามกับกามราคสังโยชน์ก็คือ ปฏิฆสังโยชน์
อันเกิดขั้นแก่ท่านผู้โกรธในขณะประสบอนิฐารมณ์
เช่นหัวเหาในดวงตาดำเป็นอุจจาระหรือสุนัขเน่า ประสาทหัวเหาจะรายงานผ่านมันสมองไปยังกองบัญชาการของนามธรรม ก่อเหตุให้เกิดความโกรธ
สั่งการให้รูปธรรมคือมือจัดเอาไปทิ้งและแช่งชักหักกระดูกผู้ที่มาปล่อยอุจจาระหรือสุนัขเน่าไว้
ณ ที่นั้น แต่ตามปรมัตถธรรมแล้ว สติสัมปชัญญะจะเข้าควบคุมบงการว่า นั้นเพียงแต่สีที่เห็นอย่างหนึ่งเท่านั้น
อย่าไปยินดียินร้ายว่าเป็นของเน่าของเหม็น เพราะในร่างกายของมนุษย์ ก็มีสิ่งเหล่านี้อยู่เต็มเปา จะไปโกรธไปเกลียดมันทำไมกัน ขอให้ผ่านไปด้วยความสงบ
เพื่อประโยชน์ให้เข้าใจง่าย อาตมาขออุปไมยดังนี้ สมมติว่า
1.
ร่างกาย เท่ากับเป็นค่ายทหาร
2.
ตัวกิเลส คือศัตรูผู้จะเข้ามาย่ำยี
3.
ค่ายทหารนั้นมีประตูเป็นด่านประจำอยู่
๕ ด่าน คือ ด่านจักขุ ด่านโสตะ ด่านฆานะ ด่านชิวหา ด่านกายา สำหรับ
1.
ด่านจักขุ มีพันตรีหัวเหา เป็นผู้บัญชาการกองพันหัวเหา
2.
ด่านโสตะ มีพันตรีวงแหวน เป็นผู้บังคับบัญชากองพันวงแหวน
3.
ด่านฆานะ มีพันตรีกีบแพะ เป็นผู้บังคับบัญชากองพันกีบแพะ
4.
ด่านชิวหา มีพันตรีกลีบดอกบัว เป็นผู้บังคับบัญชากองพันปลายกลีบดอกบัว
5.
ด่านกายา มีพันตรีแผ่นปุยฝ้าย เป็นผู้บังคับบัญชากองพันแผ่นปุยฝ้าย
6.
ค่ายทหารนี้ มีหอรบเป็นหอคอยฟังเหตุการณ์ มีพันตรีมโน ซึ่งที่แท้เป็นเสมือนพลเอก วิญฺญาณํ เป็นผู้บังคับบัญชากองพันวิทยุโทรทัศน์ ฟังเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวของศัตรู
(กิเลส) โดยตรง
1.
กองเสนาธิการ มีพลตรีมันสมองเป็นผู้บังคับบัญชา
2.
กองบัญชาการ
มีพลเอกวิญฺญาณํเป็นผู้บังคับบัญชาการใหญ่ และ
1.
มีพลโทสัญญา เป็นที่ปรึกษาทางเทคนิค ทางสังเกตจดจำ
2.
มีพลโทเวทนา เป็นที่ปรึกษาทางเทคนิค ทางการพิจารณาว่าอะไร เป็นสุข เป็นทุกข์
หรือไม่สุขไม่ทุกข์
คืออะไรจะก่อเกิดอิฏฐารมณ์
หรือจะก่อเกิดอนิฏฐารมณ์
หรือจะเป็นกลางๆ ไม่ก่อเกิดความยินดียินร้ายเป็นอุเบกขา
3.
มีพลโทสังขารํ
เป็นที่ปรึกษามีหน้าที่พิจารณาว่าอะไรดีหรืออะไรชั่ว สมควรจัดประการใดแก่เหตุการณ์นั้นๆ
4.
มีพลเอกวิญฺญาณํมีอำนาจหน้าที่จงบงการให้จัดอย่างไร ในเมื่อได้รับรายงานของท่านที่ปรึกษาทั้ง
๓ นั้นแล้ว
และสั่งงานไปตามที่เห็นชอบ
1.
กองบังคับการ มีพลโทรูปํ เป็นผู้บังคับบัญชาทหารที่จะดำเนินการตามคำบงการ
ของพลเอกวิญฺญาณํซึ่งส่งผ่านมาทางพลตรีมันสมอง ผู้เป็นใหญ่ในกองเสนาธิการ
2.
อย่างไรก็ดี ยังมีจอมพลสติสัมปชัญญะ
ผู้บังคับบัญชาการสูงสุดควบคุมดูแลทั่วไป
ซึ่งค่ายทหารนั้น และเมื่อตัวกิเลสอันเป็นศัตรูใหญ่ยกทัพมาย่ำยีฉะนี้แล้ว
ท่านจอมพลอาจสั่งยับยั้งคำบงการของกองบัญชาการ ในเมื่อพิจารณาเห็นว่า ความจริงแท้คือสัจจะซึ่งจะประจักษ์ว่า ตัวกิเลสแสดงเป็นตัวศัตรูนั้น ที่แท้คือมายาเท่านั้นเอง จะมาทำอะไรไม่ได้จริงจัง หาว่าค่ายทหารนั้นตั้งมั่นอยู่เฉยๆ ค่ายทหารคือกายมนุษย์นั้น
จะไม่มีจอมพลผู้บังคับบัญชาการสูงสุดเลย เว้นไว้แต่มนุษย์นั้นจะเป็นผู้ปฏิบัติก่อเกิดสติสัมปชัญญะควบคุมพลเอกวิญฺญาณํไว้ได้
หรือนัยหนึ่งปฏิบัติได้ปัญญาอันแจ้งปราศจากโลภ โกรธ หลง
ทั้งหลายเหล่านี้ กล่าวว่าเป็นขบวนการในกายมนุษย์ ซึ่งอาตมาสมมติเทียบเคียงดุจดังค่ายทหาร
คราวนี้จะดำเนินเรื่องให้เห็นว่า
กายมนุษย์ยาววาหนาคืบนี้สมมติว่าเป็นค่ายทหาร มีขันธ์ ๕ สมมติเป็นนายทหารประจำค่าย ได้ปฏิบัติอำนาจหน้าที่กันอย่างไร ตัวอย่างเช่น มีความเคลื่อนไหวของทหารศัตรูตรงมายังค่ายนั้น
พันตรีหัวเหาจะรายงานไปยังพลตรีมันสมอง ทันทีที่ได้เห็นเหตุการณ์ พลตรีมันสมองจะบอกรายงาน
(ไม่แสดงความเห็นอย่างไร)
ไปยังกองบัญชาการ (นามธรรม)
พลโทสัญญาได้ทราบรายละเอียดเช่นนั้น
ก็จะกล่าวฐานะผู้เคยจดจำได้ว่ากิริยาอย่างนี้ ศัตรูจะเคลื่อนไหวทัพเข้าโจมตีค่ายของเรา พลโทเวทนาจะรายงานต่อไปว่า
อย่างนี้จะก่อให้เกิดทุกข์เดือดร้อนแก่ค่ายของเรา พลโทสังขารํจะแสดงความเห็นเสนอพลเอกวิญฺญาณํว่า อย่างนี้ไม่ดีแน่
ควรยกพลทหารเข้าปะทะข้าศึกให้ทันท่วงทีตีทัพศัตรูให้แตกพ่ายไป พลเอกวิญฺญาณํเมื่อเห็นชอบด้วย ก็จะบงการไปยังพลตรีมันสมองให้แจ้งแก่พลโทรูปํ เพื่อนำทหารออกไปสู้กับศัตรู
แต่ถ้าหากในค่ายทหารอันยาววาหนาคืบนั้นเป็นมนุษย์ที่ได้ปฏิบัติธรรมแล้ว ก็จะเกิดปัญญารู้ความจริงแท้คือสัจจะ
มีจอมพลสติสัมปชัญญะควบคุมว่าอย่ายกพลทหารไปรบราฆ่าฟันกันเลย เพียงแต่ตั้งมั่นอยู่ในค่ายเตรียมพร้อมไว้ให้ดี
ศัตรูคือตัวกิเลสก็จะไม่กล้ำกรายเข้ามาย่ำยีได้ แพ้ภัยไปเอง
ส่วนทางด่านอื่น เช่น ด่านกองพันวงแหวนนั้น เมื่อได้ยินเสียงลูกระเบิด หรือเสียงปืนยิงของข้าศึกศัตรู
พันตรีวงแหวนก็คงรายงานและเกิดผลทำนองเดียวกัน ทางด่านกองพันกีบแพะหรือด่านกองพันกลีบบัว ทางด่านกองพันแผ่นปุยฝ้าย ก็ไม่แตกต่างกันไปเป็นอย่างอื่น เว้นเสียแต่ทางหอคอยพันวิทยุนั้น พันตรีมโนได้รับข่าวโดยตรงแล้ว
พลเอกวิญฺญาณํอาจสั่งการผ่านพลตรีมันสมองทันที โดยไม่ฟังความเห็น พลโทที่ปรึกษาทั้งสามดังกล่าวมานั้น แต่จอมพลสติสัมปชัญญะอาจควบคุมยับยั้ง เช่นกรณีอื่นได้ ทั้งหลายเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า
ในกายมนุษย์นี้มีขบวนการอันหนึ่งที่ดำเนินการต่างๆ ไม่ใช่ตัวตนของเราดอก ที่ทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ กล่าวสั้นก็คือว่าขันธ์ ๕ นั้นแหละเป็นผู้ดำเนินการ หรือพูดโดยย่อก็ได้แก่ รูป นาม นั่นเอง หาใช่เรา ใช่เขา ใช่ตัว ใช่คนไม่ เมื่อมีปัญญารู้ทะลุปรุโปร่งเช่นนี้ ก็ละสักกายทิฏฐิได้อย่างแน่นอน ท่านจึงว่าการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานให้พิจารณาที่รูปนาม ในกายยาววาหนาคืบ ซึ่งอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เกิดตรงนี้เอง.
² ² ² ² ²