วันมาฆบูชา

รวบรวมโดย  พระราชสุทธิญาณมงคล

K00072

วันมาฆปุรณมีเพ็ญเดือน ๓  เป็นมงคลสมัยที่นิยมว่าตรงกับวันจาตุรงศิกสาวกสันนิบาตประชุมตั้งหลักสอนพระพุทธศาสนาและปรงพระชนมายุสังขารแห่งพระบรมศาสดา  พระบูรณาจารย์  หากกำหนดไว้ดังนี้

              จาตุรงศิกสาวกสันนิบาตนั้น  คือประชุมสาวกสงฆ์  พร้อมด้วยองค์ ๔ ภิกษุซึ่งได้มาประชุมทั้งปวงล้วนเป็นเอหิภิกษุทั้งสิ้นนับเป็นองค์ ๑  ท่านเหล่านั้นล้วนเป็นอรหันต์  อยู่จบพรหมจรรย์  เสร็จกิจในปหานและภาวนาแล้วนับเป็นองค์ที่ ๒  ท่านเหล่านั้นได้นัดแนะเรียกร้องกัน  มายังที่ประชุมโดยตนเองเป็นองค์ที่ ๓  วันประชุมนั้นเป็นดิถีเพ็ญที่ครบ ๓ เดือน  แห่งเหมันต์ฤดูเป็นองค์ครบ ๔  การประชุมเช่นนี้แห่งพระพุทธเจ้าบางองค์มี ๓ วาระ  บางองค์มี ๒ วาระ  บางองค์มีวาระ ๑ เท่านั้น  และนับภิกษุที่มาประชุมมากบ้างน้อยบ้างไม่มีนิยม  แต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย มีสาวกสันนิบาตมหัศจรรย์เช่นนี้  วาระเดียวนิยม ภิกษุขีณาสพ  มีกึ่งเป็นที่ครบ ๑๓ คือนับได้ ๑๒๕๐ นี้หมายถึงภิกษุบริวารของพระอุรุเวลกัสสป  นทีกัสสป  และคยากัสสป  ซึ่งเรียกว่า  ปุราณชฏิลมีประมาณ ๑๐๐๐ พระภิกษุบริวารของพระสาริบุตร  และพระโมคคัลลานะ  ซึ่งเรียกว่าปุราณปริพาชก  อีก ๒๕๐  จึงรวมเป็น ๑๒๕๐  ถ้านับพระเถระผู้เป็นหัวหน้าด้วยก็เป็น ๑๒๕๕  และสันนิบาตนั้นได้มีแล้ว ณ เวรุวนาราม  จังหวัดราชคฤห์  เมื่อเวลาตะวันบ่าย  ดิถีเพ็ญพระจันทร์เสวยมาฆนักษัตร  ในปีที่ตรัสรู้นั้นเมื่อมีสันนิบาตพร้อมด้วยองค์ ๔ เป็นอัศจรรย์เช่นนั้น  พระผู้มีพระภาคเจ้า  จึงทรงทำวิสุทธิอุโบสถทรงแสดงขึ้นซึ่งโอวาทปาฏิโมกข์ ณ ที่ประชุมนั้น

              ครั้งสมัยอื่นจากนั้นมาถึงปีที่ ๔๕ ก่อนหน้าเสด็จปรินิพพาน ๓ เดือน  เสด็จจำพรรษา บ้านเวฬุคาม  จังหวัดเวสาลี  จนกาลล่วงไปถึงเดือน ๓  แห่งฤดูเหมันต์  ซึ่งอรรถกถากำหนดว่า  มาฆาบูรณมีสมัย  จึงทรงปรงพระชนมายุสังขาร ณ ปาวาลเจดีย์สถาน  จังหวัดเวสาลีนั้น  โดย  พระพุทธพจน์ที่ตรัสกับมารผู้มีบาปว่า “ท่านจงขวนขวายน้อยเถิด” ความปรินิพพานแห่งตถาคตจักมีในไม่ช้าโดยกาลที่ล่วงไปแล้วแห่ง ๓ เดือน  แต่นี้พระตถาคตจักปรินิพพาน  ดังนี้

              ส่วนวันทำมาฆบูชานั้นกำหนดตามสุริยคติวันเพ็ญในเดือนกุมภาพันธ์  เป็นวันทำมาฆบูชาจะตกในเดือน ๓ หรือในเดือน ๔ ก็ตาม  แต่ถ้าวันเพ็ญในเดือนกุมภาพันธ์เป็นวันที่ ๑ หรือที่ ๒ มาฆบูชาเลื่อนไปทำในวันเพ็ญหลังในเดือนมีนาคม  กำหนดตามจันทรคติ  ในปีมีปกติมาศ  ทำกันในวันเพ็ญเดือน ๓  ต่อมีอธิกมาศ  คือ  มีแปดสองแปดอยู่หน้า  จึงทำเพ็ญเดือน ๔

              อภิลักขิตกาลเช่นนี้  ก็จัดเป็นสำคัญของพุทธศาสนิกชนอีกเหมือนกัน  พุทธบริษัททั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตชุมนุมกันสักการะบูชาใหญ่  เหมือนอย่างทำในวันวิสาขบูชา  และวันถวายพระเพลิง  ต่างแต่หัวหน้ากล่าวคำนำบูชาเปลี่ยนไปโดย  อนุรูปแก่อภิลักขิตกาล  ส่วนเทศนานั้น  กัณฑ์ต้นเทศจาตุรงคสันนิบาต  เทศถึงประชุมตั้งหลักสอนพระพุทธศาสนา  แล้วหยุดให้พระสงฆ์สวดโอวาทปาฏิโมกข์ทิปาฐ  และจึงเทศอธิบายความในโอวาทปาฏิโมกข์ต่อไป  แต่นั้นเทศโพธิปักขิยธรรม  หรือจะเทศน์อะไรก็ได้  เลือกเรื่องที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง

              ต่อไปนี้จะได้อัญเชิญ “โอวาทปาฏิโมกข์ทิปาฐ”  ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ได้ทรงแสดงในที่ประชุมสงฆ์  ในวันมาฆบูชาเป็นครั้งแรก  และได้ถือเป็นหลักสำคัญในการสั่งสอนเผยแผ่พระพุทธศาสนาแต่นั้นมา

คำแปลโอวาทปาฏิโมกข์

              สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า  ผู้รู้เอง  เห็นเอง  ผู้อรหันต์  สัมมาสัมพุทธเจ้า  พระองค์นั้น  ทรงแสดงแล้วแลซึ่งโอวาทปาฏิโมกข์  ด้วยคาถาทั้งหลาย ๓ ความว่า

              ความอด  คือความทนทาน  เป็นธรรมเผาบาปอย่างยิ่ง  ท่านผู้รู้ทั้งหลาย  ย่อมกล่าวพระนิพพานว่าเป็นธรรมอย่างประเสริฐ  ผู้ทำร้ายผู้อื่น  ไม่เชื่อว่าเป็นบรรพชิตทีเดียว  ผู้เบียดเบียนผู้อื่นอยู่  ไม่เชื่อว่าเป็นสมณะ

              ความไม่กระทำบาปทั้งสิ้น  ความยังกุศลให้ถึงพร้อม  ความทำจิตของตนให้ผ่องใส  ๓ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

              ความไม่กล่าวร้าย ๑ ความไม่ทำร้าย ๑ ความสำรวมในพระปาฏิโมกข์ ๑ ความเป็นผู้ประมาณในภัตตาหาร ๑  ที่นอนที่นั่งอันเงียบสงัด ๑  ความประกอบเพียรในอธิจิต ๑  ทั้ง ๖ นี้  เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

              และพระผู้มีพระภาคเจ้า  ผู้รู้เอง  เห็นเอง  ผู้อรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า  พระองค์นั้น  ตรัสศีล  ตรัสสมาธิ  ตรัสปัญญา  ไว้แล้วด้วยดีโดยปริยายเป็นเอนกแล ฯ

              พระผู้มีพระภาค  ตรัสศีลไว้ด้วยดีอย่างไรเล่า ?

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสศีลไว้ด้วยดีโดยปริยายอย่างต่ำก็มี  ตรัสศีลไว้ด้วยดีอย่างสูงก็มี

              พระผู้มีพระภาคเจ้า  ตรัสศีลไว้ด้วยดีโดยปริยายอย่างต่ำอย่างไรเล่า ? (ตรัสไว้ว่า) อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้  เป็นผู้งดเว้นจากฆ่าสัตว์  เป็นผู้งดเว้นจากลักทรัพย์  เป็นผู้งดเว้นผิดในกาม  เป็นผู้งดเว้นจากการพูดปด  เป็นผู้งดเว้นที่ตั้งแห่งความประมาท  คือดื่มน้ำเมา  คือสุราเมรัย  พระผู้มีพระภาคตรัสศีลไว้ด้วยดีโดยปริยายอย่างต่ำอย่างนี้แล ฯ

              พระผู้มีพระภาคตรัสศีลไว้ด้วยดีอย่างสูงอย่างไรเล่า ? (ตรัสไว้ว่า)  ภิกษุในธรรมวินัยนี้  เป็นผู้มีศีลสำรวมแล้วในพระปาฏิโมกข์สังวร  ถึงพร้อมแล้วมารยาทและโคจรมีปรกติ  เห็นภัยในโทษทั้งหลายมีปริมาณน้อย  สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย  พระผู้มีพระภาคตรัสศีลไว้ด้วยดี  โดยปริยายอย่างสูงอย่างนี้แล ฯ

             
              พระผู้มีพระภาคตรัสสมาธิไว้ด้วยดีอย่างไรเล่า ?

พระผู้มีพระภาคตรัสสมาธิไว้ด้วยดีโดยปริยายอย่างต่ำก็มี  ตรัสสมาธิไว้อย่างสูงก็มี

              พระผู้มีพระภาคตรัสสมาธิไว้ด้วยดีโดยปริยายอย่างต่ำอย่างไรเล่า ?    (ตรัสไว้ว่า)  อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้  ทำซึ่งความสละให้เป็นอารมณ์ (แห่งจิต) ย่อมได้ซึ่งสมาธิ  ได้ซึ่งความที่แห่งจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง  พระผู้มีพระภาคตรัสสมาธิด้วยดีโดยปริยายอย่างต่ำอย่างนี้แล ฯ

              พระผู้มีพระภาคตรัสสมาธิไว้ด้วยดีโดยปริยายอย่างสูงอย่างไรเล่า ?    (ตรัสไว้ว่า) ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้  สงัดจากกามทั้งหลาย  สงัดจากธรรมอกุศลทั้งหลายเทียวเข้าถึง ปฐมญาณ (ความแพ่งที่ ๑) มีวิตกวิจารณ์  มีปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่  เพราะให้วิตกวิจารณ์ทั้งสองสงัดจึงเข้าถึง ทุติยญาณ (ความแพ่งที่ ๒)  ให้จิตผ่องใสในภายใน  ให้สมาธิเป็นธรรมอันเอกผุดขึ้นแห่งจิต  ไม่มีวิตก  ไม่มีวิจารณ์  มีปีติและสุข  อันเกิดแต่สมาธิอยู่ความหน่ายแห่งปีติ  จึงเป็นผู้เพิกเฉยอยู่  เพราะเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์  เสวยสุขด้วยกายด้วย  เพราะคุณคืออุเบกขา  สติและสัมปชัญญะและความเสวยสุขไรเล่าเป็นเหตุ  พระอริยเจ้าทั้งหลายจึงกล่าวสรรเสริญว่า  เป็นผู้เพิกเฉยมีสติอยู่เป็นสุข  ดังนี้จึงเข้าถึงตติยญาณ (ความแพ่งที่ ๓) อยู่  เพราะมาละสุขได้ด้วย  ละทุกข์ได้ด้วย  เพราะความที่มาแห่งโสมนัสทั้งสองดับสนิทไปในกาลก่อนเทียว  จึงเข้าถึงจตุตถญาณ (ความแพ่งที่ ๔)  ไม่มีทุกข์และสุข  มีความที่แห่งอุเบกขา  และสติเป็นธรรมอันเป็นบริสุทธิ์อยู่  พระผู้มีพระภาคตรัสสมาธิไว้ด้วยดีโดยปริยายอย่างสูงอย่างนี้แล ฯ

              พระผู้มีพระภาคตรัสปัญญาไว้ด้วยดีอย่างไรเล่า ?

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสปัญญาไว้ด้วยดีโดยปริยายอย่างต่ำก็มี  ตรัสปัญญาไว้ด้วยดีโดยปริยายอย่างสูงก็มี

              พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสปัญญาไว้ด้วยดีโดยปริยายอย่างต่ำอย่างไรเล่า ? (ตรัสไว้ว่า) อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้  ย่อมเป็นผู้มีปัญญาประกอบแล้ว  ด้วยปัญญาเครื่องดำเนินถึงความเกิดดับแห่งสังขารเป็นจริงชำแรกกิเลสให้สัตว์ถึงความสิ้นไปแห่งทุกข์โดยชอบ  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสปัญญาไว้ด้วยดีโดยปริยายอย่างต่ำอย่างนี้แล ฯ

              พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสปัญญาไว้ด้วยดีโดยปริยายอย่างสูงอย่างไรเล่า ? (ตรัสไว้ว่า) ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้  ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่านี่ทุกข์  ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่านี่เหตุให้ทุกข์เกิด  ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่านี่ข้อปฏิบัติเครื่องดำเนินให้ถึงความดับทุกข์  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสปัญญาไว้ด้วยดีโดยปริยายอย่างสูงอย่างนี้แล ฯ

          สมาธิอันศีลอบรมแล้ว  ย่อมมีผลใหญ่  มีอานิสงส์ใหญ่  จิตอันปัญญาอบรมแล้วย่อมพ้นจากอสาวะทั้งหลายด้วยดีนี่อย่างไร ? คือจากกามาสวะ (อสาวะเป็นเหตุอยากได้)  จากภวาสวะ (อสาวะเป็นเหตุอยากเป็น) จากอวิชชาสวะ (อสาวะคือวิชาความเขลา)  และในสมัยใกล้ปรินิพพาน  พระผู้มีพระภาคตรัสปัจฉิมวาจานี้ไว้ว่าภิกษุทั้งหลาย  บัดนี้เราขอเตือนท่านทั้งหลาย  สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา  ท่านทั้งหลายจงยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด  สมจริง  พระผู้มีพระภาคตรัสคำอุปมาข้อนี้ไว้ว่าดูกรภิกษุทั้งหลาย  รอยเท้าสัตว์ที่สัญจรไปในแผ่นดินเหล่าหนึ่งเหล่าใด  รอยเท้าเหล่านั้นทั้งหมด  ย่อมถึงความประชุมลงในรอยเท้าช้าง  เขาย่อมเรียกเท้าช้างว่าใหญ่กว่ารอยเท้าของสัตว์นั้น  เพราะรอยเท้าช้างเป็นของใหญ่ฉันใด  ดูกรภิกษุทั้งหลาย  กุศลธรรมเหล่าใด (มีอยู่) กุศลธรรมเหล่านั้นทั้งมวลล้วนความไม่ประมาทเป็นมูลรวมลงในความไม่ประมาทสิ้น  ท่านจึงกล่าวความไม่ประมาทว่า  เลิศกว่ากุศลธรรมเหล่านั้นฉันนั้นแล ฯ เพราะเหตุอย่างนี้แหละเราทั้งหลายควรศึกษาว่า “จักเป็นผู้มีความเพ่งอย่างแรงกล้าในการสมาทานอธิศีลสิกขา  ในการสมาทานอธิจิตตสิกขา  ในการสมาทานอธิปัญญาสิกขา  เราจักยังไตรสิกขา (คือ ศีล สมาธิ ปัญญา  ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท  เราทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แหละ)”

              ใจความพระปาฏิโมกข์ที่จบจงนี้  เป็นหลักแห่งการให้โอวาทในพระพุทธศาสนา  เป็นการประกาศหลักพระพุทธศาสนา  โดยถือใจความแห่งธรรมที่เป็นประธานหรือเป็นยอดแห่งโอวาททั้งมวล  นับวาระแต่ที่พระองค์ได้ทรงค้นคว้าแสวงโมกข์ธรรม  และเมื่อได้ตรัสรู้ทรงค้นพบโมกข์ธรรมแล้ว  เมื่อมีพระสาวกได้บรรลุมรรคผลก็ทรงสั่งบรรดาพระอริยสาวกที่รู้ตามเห็นตามเหล่านั้น  ออกประกาศเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยแยกทางจาริกไปคนละทิศละทาง  และปลายปีที่พระองค์ตรัสรู้ในวันเพ็ญแห่งมาฆมาสนั้นเอง  เหตุอัศจรรย์คือ “จาตุรงคสันนิบาต”  ดังที่กล่าวมาแล้วเบื้องต้นก็บังเกิดขึ้น  พระองค์จึงได้ทรงประทาน “โอวาทปฏิโมกข์”  อันเป็นหลักแห่งการให้โอวาทในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่มวลพระสาวกเป็นอย่างดี  บรรดาพระสาวกผู้ทำหน้าที่ประกาศพระศาสนาได้น้อมรับเอาหลักปฏิบัตินั้น  โดยไม่ต้องสงสัยว่า  โอวาทที่ตนกล่าวสอนออกไปจะผิดแนวแห่งพระประสงค์อย่างไร  แปลว่าจะสอนอย่างไร  ด้วยวิธีใดก็ตามเถิด  สาระของโอวาทนั้นต้องอยู่จุดนี้  เรื่องนี้ต่างเป็นที่ชื่นชมแก่มวลพุทธสาวกเป็นอย่างมาก  และด้วยหลักอันนี้  พระพุทธศาสนาก็ได้แพร่หลายไพศาลยิ่งขึ้น  และมั่นคงดำรงมาจนทุกวันนี้

              ในอภิลักขิตกาลแห่งวัน “มาฆบูชา”  อันเป็นวันสำคัญยิ่งวันหนึ่งแห่งพระพุทธศาสนา  บรรดาพุทธศาสนิกชนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ  ต่างก็ได้น้อมนำสักการะเคารพบูชา  โดยทำพิธีในวันมาฆบูชา  ตามกำลังศรัทธา  และอัธยาศัย  เพื่อน้อมบูชาต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นเจ้าของแห่งพระพุทธศาสนา  พร้อมทั้งพระองค์ได้ทรงค้นพบหลักธรรม  อันเป็นหลักอบรมจิตใจแก่มวลเวไนยประชากรทุกถ้วนหน้า  และทั้งพระสงฆ์ผู้ทรงศาสนามาจนบัดนี้  เรามุงเทิดบูชาคุณแห่งพระพุทธศาสนา  จึงขอน้อมเคารพสักการะบูชา  พระไตรรัตน์  อันเป็นฉัตรแก้วในความรุ่มเย็นเป็นสุขแก่มวลพุทธศาสนิก ณ วโรกาสนี้ด้วยเทอญ.