วิธีการทำงาน
พระราชสุทธิญาณมงคล
K00075
รวบรวมโดย พระราชสุทธิญาณมงคล วัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรี
ทุกคนที่เกิดมา
ในโลกนี้ล้วนแต่ต้องทำงาน หรือต้องมีงานทำเพราะทุกคนต้องการดีกันทั้งนั้น แต่ดีจะเกิดขึ้นมาได้ก็เพราะอาศัยเหตุ ๕
ประการ คือ
1.
การทำงาน
2.
ความรู้
3.
ธรรมะ
4.
ศีล
5.
ชีวิตที่ชอบธรรม
(กมฺมํวิชฺชา
จ ธมฺโม จ
สีลํ ชีวิตมุตตฺตมํ เอเตน มจฺจาสุชฺฌนฺติ นโคตฺเตนธเนนวา)
1.
งานนั้นจะต้องเป็นงานที่ไม่มีโทษ มีแต่คุณ
(อนวชฺชานิ
กมฺมานิ เอตมฺมงคลมุตฺตมํ)
2.
งานนั้นจะต้องเป็นงานที่ทำสำเร็จตามเวลา ไม่เป็นงานที่คั่งค้าง
(อนากุลา
จ กมฺมนฺตา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)
บุคคลที่จะได้ชื่อว่าเป็นนักทำงานเก่งนั้น มีลักษณะอยู่ ๓ อย่างคือ
1.
ทำงานได้ถูกต้อง
เรียบร้อย และรวดเร็ว
2.
สามารถแก้ไขปัญหาที่ยุ่งยากต่าง ๆ ได้ และการแก้ปัญหานั้นเป็นผลดีแก่ส่วนรวม
3.
ทำงานได้ดีมาก
คือ ทำงานได้ทน
การที่จะทำงานให้สมบูรณ์ได้ตามลักษณะดังกล่าวมานั้น มีวิธีการปฏิบัติดังต่อไปนี้ คือ
1.
ศึกษาแง่ดีของผู้อื่น
2.
ทำงานให้ดีขึ้น
โดยลำดับ
3.
รู้จักแบ่งงาน
4.
รู้จักสั่งงาน
5.
รู้จักดำเนินงาน
6.
มีกำลังใจในการทำงาน
ข้อที่ว่า ทำงานได้ถูกต้อง เรียบร้อย และรวดเร็วนั้น คือ
ต้องถือความถูกต้องเป็นสำคัญอันดับแรก ความเรียบร้อยเป็นอันดับสอง
ความรวดเร็วเป็นอันดับสาม
ข้อที่ว่า สามารถแก้ไขปัญหาที่ยุ่งยากต่าง ๆ ได้นั้น คือ
ต้องพิจารณาปัญหาว่ามีกี่ประเด็นแยกออกไปเป็นประเด็น ๆ ประเด็นไหนสำคัญมากน้อยอย่างไร มูลเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมานั้นมีอย่างไร
ข้อที่ว่า ทำงานได้ดีมาก คือ ทำงานได้ทนนั้น คือ ต้องมีสุขภาพดี มีกำลังใจดี คือมีสมาธิในการทำงานดี
ข้อที่ว่า ศึกษาแง่ดีของผู้อื่นนั้น คือ
เฉพาะในองค์กรของคณะสงฆ์นั้น
มีงานหลักอยู่ ๔ ประการคือ ปกครอง ศึกษา เผยแผ่ และ สาธารณูปการ
การศึกษาก็คือ ศึกษาการปกครอง การศึกษาการเผยแผ่ และการสาธารณูปการของผู้อื่น
ที่สามารถจัดทำได้ดีว่ามีวิธีการจัดทำกันอย่างไร
ข้อว่า ทำงานให้ดีขึ้นโดยลำดับนั้น เช่น ผู้น้อยทำงานได้ดีเด่น
จนเป็นที่เห็นได้ว่าสามารถจะทำงานในหน้าที่ผู้ใหญ่ได้
ข้อว่า รู้จักแบ่งงานนั้น คือ ต้องถือเอาความรู้ ความสามารถ และความประพฤติปฏิบัติ ของผู้ที่จะรับงานเป็นแนวทางในการแบ่งงาน
ข้อว่า รู้จักสั่งงานนั้น คือ ต้องสั่งงานโดยแจ่มแจ้งชัดเจน
ผู้รับคำสั่งสามารถเข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้งไม่มีข้อสงสัย และสั่งงานตามระเบียบแบบแผน สั่งงานตามเหตุผล ไม่สั่งงานด้วยอารมณ์
เช่น สั่งงานด้วยมีการเยาะเย้ยเหน็บแนม
หรือกระทบกระเทียบเปรียบเปรย
ทำให้ผู้น้อยเกิดความไม่พอใจ
เสียใจ น้อยใจ เสียกำลังใจในการทำงาน
ข้อว่า รู้จักดำเนินงานนั้น คือ การดำเนินงานมี ๒ อย่าง คือ
๑.
ดำเนินงานเก่า
๒.
ดำเนินงานใหม่
ถ้าเป็นงานเก่าต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ ด้วยเหตุผลว่างานเก่านั้นเป็นอย่างไร ควรจะยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลง ควรจะปรับปรุงแก้ไขอย่างไร
มิใช่ว่าถ้าเป็นงานเก่าแล้วไม่ยอมรับรู้เพราะไม่ใช่งานของตน
ถ้าเป็นงานใหม่ก็ควรจะได้รับความเห็นชอบจากผู้ที่จะร่วมงานด้วยเสียก่อน
มิใช่เป็นความเห็นชอบของเราแต่ผู้เดียว โดยผู้อื่นไม่เห็นชอบด้วย
ข้อว่า มีกำลังใจในการทำงานนั้น คือ
ต้องคิดว่างานที่ทำนั้นเป็นงานในหน้าที่ของตน ถ้าตนไม่ทำจะให้ใครทำ
ถึงอย่างไรก็จะไม่พ้นความรับผิดชอบของตนไปได้
พระพุทธเจ้าทรงทำงานเป็นปรกติตลอดเวลา
๔๕ ปี คือ บำเพ็ญพุทธกิจ ๕ ประการ ไม่มีข้อบกพร่อง ผลงานของพระองค์จึงเป็นอมตะ มีผลไพศาลยั่งยืนนานมาจนทุกวันนี้ เป็นเวลายาวนานถึง ๒,๕๐๐ ปีเศษแล้ว