นิสังสกถา

พระราชสุทธิญาณมงคล

K00089

 

              ณ บัดนี้  อาตมาภาพได้รับประทานแสดงพระสัทธรรมเทศนาในอานิสังสกถา  พรรณนาอานิสงส์แห่งกุศลจริยาสัมมาปฏิบัติ  ท่านเจ้าภาพพร้อมด้วยญาติมิตรคณะศิษยานุศิษย์  ได้มีจิตเป็นเอกฉันท์พร้อมกัน  บัดนี้ท่านทั้งหลายบรรดาศิษย์ได้พร้อมใจกัน  ด้วยความกตัญญูรู้อุปการะคุณแห่งท่าน  อันได้มีมาแล้วแก่ตน  ท่านเคยเป็นผู้ประกอบคุณความดีไว้ทั้งในส่วนอัตตสมบัติ  คือมีศีลาจารวัตร  และในส่วนปรหิตสมบัติ  คือความดีที่มีต่อผู้อื่น  ความดีเหล่านี้ยังยืนมาหาได้สูญสิ้นไป  เมื่อมาอนุสรณ์คำนึงถึงท่านคราวใด  อันเพียบพร้อมไพศาลไปด้วยกตเวทิตาธรรม  จึงได้น้อมนำเอาโอกาสเช่นนี้เป็นเครื่องแสดงกตเวทีตามวิสัยสามารถ  โอกาสเช่นนี้จึงนับว่าเป็นสมัยสำคัญในอันที่จะประกาศความเป็นผู้มีกตเวทีให้ปรากฏ  และการที่ท่านเจ้าภาพพร้อมด้วยศิษย์สามัคคีกันด้วยกายและจิต  ได้จัดการนอกจากนั้นท่านทั้งหลายยังมีจิตศรัทธาเป็นมหากุศลเชื่อมั่นในผลแห่งการบริจาค  อาจอำนวยวิบากสุขแก่ตนและบุคคลที่ได้อุทิศถึง  จึงมิได้หวั่นต่อความหมดเปลืองปราศจากมัจฉริยะความตระหนี่  ยินดีสละทรัพย์ออกเป็นวัตถุไทยทาน  บำเพ็ญกุศล เป็นต้น  และจัดให้มีพระสัทธรรมเทศนาเป็นกิริยา  กระทำสำเร็จเป็นทานมัย  สีลมัย  ภาวนามัย  ถูกต้องตามอริยประเพณีแห่งพุทธบัณฑิตดำเนินกรณียกิจในหน้าที่ของศิษย์ที่ดี  มีกตัญญูต่ออาจารย์  สมดังบรรหารธรรมภาษิตที่ว่า  นิมิตตํ  สาธุรูปานํ  กตัญญูกตเวทิตา  ความเป็นผู้มีกตัญญูกตเวที  เป็นเครื่องหมายของคนดี  ภูมิเว  สาธุรูปานํ  กตัญญูกตเวที  ความกตัญญูกตเวที  เป็นภาคพื้นของคนดี ดังนี้  ก็แหละว่าธรรมดาว่ากุลบุตรเมื่อมีวัสสายุกาลเจริญขึ้นพอสมควรแก่ภาวะที่จะศึกษาเล่าเรียนสรรพศิลปวิทยา  อันจะนำมาประกอบกรณียกิจ  เครื่องจะนำชีวิตไปสู่ความสุขความเจริญได้แล้ว  ก็จำจะต้องได้รับการศึกษาเล่าเรียนดี  จากสำนักครูบาอาจารย์มาก่อน  ด้วยการอาทรเอื้อเฟื้อของอาจารย์  ช่วยประสิทธิ์ประสาทจึงจะมีปรีชาเฉลียวฉลาดรอบรู้ศิลปวิทยาทั้งปวงได้  อนึ่งจะเป็นผู้มีอัธยาศัยดีงาม  มีความประพฤติเรียบร้อย  ตั้งอยู่ในสัมมาปฏิบัติเพราะการศึกษาขัดเกลาอบรมศึกษามาจากสำนักอาจารย์เช่นเดียวกัน  เพราะเหตุการณ์ดังนั้นอาจารย์จึงได้ชื่อว่า บุพการี  ผู้มีอุปการะคุณแก่ศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย  เมื่อจะกล่าวโดยปริยาย  คำว่าอาจารย์ในสถานที่นี้ท่านจำแนกไว้ ๔ ประเภท  กล่าวคือ

              ๑. ปพฺพชาจริโย  ประเภทที่คนนั้นได้แก่บรรพชาจารย์ผู้ให้บรรพชาเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา  อาจารย์ประเภทนี้มีคุณูประการแก่กุลบุตรด้วยสามารถนำออกจากฆราวาส  ซึ่งเป็นสัมพาธสถาน  คือสถานที่อันคับแคบไม่สะดวกในการที่จะบำเพ็ญคุณธรรมอันพิเศษ  เพราะเป็นที่มาแห่งละอองธุลี  กล่าวคือ กิเลสเครื่องทำใจให้เศร้าหมองด้วยกามารมณ์  อุดหนุนให้ค้ำจุนให้ได้ขึ้นสู่ภูมิบรรพชิต  เพศนิสัยในพระพุทธศาสนา  ซึ่งนับว่าเป็นวิศาลสถานกว้างขวางเยือกเย็นเป็นที่ปราศจากปลิโพธิกังวลนานาประการ  อาจารย์ประเภทนี้มีสมญาเรียกว่า บรรพชาจารย์ 

              ๒. อุปสมฺปพาจาริโน อาจารย์ประเภทที่ ๒ ได้แก่ อุปสมัปทาจารย์  มีหน้าที่ในการให้อุปสมบทแก่กุลบุตรด้วย  จตุตถกรรมวาจากุลบุตรผู้ปรารถนาจะร่วมเข้าสิกขาสาชีพกับภิกษุสงฆ์  ท่านก็ช่วยอนุเคราะห์ให้ดำรงค์ในพรหมจรรย์  อันเป็นอุดมเพศ  ตามเจตนาอุปมาเสมือนบิดาผู้ให้กำเนิดบุตร  ความบริสุทธิแห่งไตรทวาร  และความแตกฉานในไตรสิกขา  ก็ย่อมจะแสวงหาได้ในภิกษุภาวะนี้เป็นส่วนมาก  เนื่องจากท่านได้ช่วยอุปถัมภ์ให้สำเร็จความเป็นภิกษุเช่นนี้  จึงนับว่าท่านเป็นบุพการีผู้มีคุณูปการตั้งอยู่ในคารวะสถาน  บัญญัตินามโวหารเรียกว่า อุปสัมปทาจารย์ 

              ๓. นิสฺสยาจาริโย  อาจารย์ประเภทที่ ๓  มีนามว่า นิสฺสยาจารย์ที่ได้นามโวหารเช่นนี้  เพราะมีหน้าที่ให้นิสสัยตามนิยมบรมพุทธานุญาติคือ  ให้โอวาทแก่ภิกษุผู้บรรพชาหย่อน ๕ พรรษา  ให้เข้ามาพึ่งอาศัยในสำนัก  ช่วยอบรมฝึกฝนให้รู้  ให้เข้าใจในขนบธรรมเนียมของภิกษุในพระพุทธศาสนา  เพราะธรรมดาของภิกษุที่บวชใหม่ในพระพุทธศาสนามีพรรษาหย่อนไม่ถึง ๕ พรรษา  ทางวินัยนับว่ายังไม่สามารถปกครองตนได้  จึงต้องให้มีอาจารย์ช่วยอนุเคราะห์ดูแล  เพื่อให้ปฏิบัติถูกต้องตามกระแสพุทธฎีกา  อาจารย์ผู้ที่ให้พึ่งพาอาศัย  ดังที่แสดงมานี้มีนามบัญญัติเรียกว่า  นิสฺสยาจารย์ 

              ๔. ธมฺมจาริโย  ประเภทที่ ๔  มีนามเรียกว่า ธรรมาจารย์  อาจารย์ประเภทนี้  มีหน้าที่ในการแนะนำพร่ำสอนศาสนธรรมและศิลปวิทยาที่หาโทษบ่มิได้  อาศัยเหตุที่ท่านได้เป็นผู้สั่งสอนศาสนธรรมหรือศิลปวิทยาต่างๆ  ที่ไม่ผิดทางธรรมอย่างหนึ่ง  มีนามเรียกว่า  ธรรมาจารย์ ด้วยประการฉะนี้.