การปฏิบัติธรรมครั้งแรกในชีวิตที่เวฬุวัน ขอนแก่น

สายยุทธ รัตนวิสุทธิพันธ์

V09006

        

       ดิฉันชื่อ นางสายยุทธ รัตนวิสุทธิพันธ์ อายุ ๓๙ ปี อาชีพรับราชการครู ตำแหน่งอาจารย์ ๒ ระดับ ๖ ทำการสอนที่โรงเรียนบ้านห้วยเตยพัฒนา ต.ท่าพระ อ.เมือง จ.ขอนแก่น การมาปฏิบัติธรรมในครั้งนี้ เกิดจากนโยบายของท่านหัวหน้าการประถมศึกษาอำเภอเมือง จ.ขอนแก่น คือ นายปรีดา ทุมเทียง มีความประสงค์จะให้ข้าราชการครูเข้าปฏิบัติธรรมที่สำนักสงฆ์เวฬุวัน บ้านซำจาน ต.บ้านค้อ อ.เมือง จ.ขอนแก่น เป็นเวลา ๘ วัน ตั้งแต่วันที่ ๓-๑๐ เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๓๘ ตามความเลื่อมใสศรัทธา หากครูใดต้องการเข้าอบรมให้แจ้งความจำนงไปยังสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอเมืองได้ โรงเรียนของดิฉันแจ้งรายชื่อไป ๓ คน คือ

๑.  นายคมกฤช ซ้ายสุข อาจารย์ใหญ่

๒. นายประดิษฐ์ รัตนวิสุทธิพันธ์ ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่

๓. นางสายยุทธ รัตนวิสุทธิพันธ์ ครูผู้สอน

         เมื่อทราบกำหนดการแน่นอน ดิฉันเตรียมชุดขาวพร้อมทั้งสัมภาระที่จำเป็นต้องใช้ส่วนตัว ทั้งของสามีและของตนเองคนละกระเป๋า แต่เมื่อจวนถึงวันอบรม สามีติดธุระด่วน มีภาระผูกพันไม่ได้ร่วมอบรม ถึงวันรายงานตัว สามี ลูก และญาติ อนุโมทนาบุญ กรุณามาส่งถึงวัด เขาพูดให้กำลังใจว่า “คุณมีบุญมาก บุญผมยังไม่ถึง ขอเพียงมาส่งนะ” แล้วก็ช่วยหิ้วประเป๋ามาส่งถึงเรือนพักผู้ปฏิบัติธรรมหญิง ห้องที่ ๗ ในจำนวน ๑๐ ห้อง

       วันรายงานตัว คณะครูมาลงทะเบียนกันเรื่อย ๆ และเปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นชุดขาว เข้าอบรมเป็นรุ่นแรกของอำเภอเมือง เป็นจำนวนทั้งสิ้น ๓๙ คน แยกเป็นครูชาย ๒๐ คน ครูหญิง ๑๙ คน ครูพี่เลี้ยงในการปฏิบัติคือ อาจารย์เพ็ญศรี ศรีจินดา อาจารย์ ๒ ระดับ ๗ โรงเรียนสนามบิน อ.เมืองขอนแก่น พระอาจารย์ธีรวัฒน์ เป็นเจ้าอาวาส พระครูใบฏีกาคธาวุฒิ เป็นประธานอบรม

       และเริ่มการอบรมเรื่อยไปตลอด ๗ วัน บรรยากาศภายในศูนย์ฯ ดิฉันประทับใจมากคือมีความเงียบสงบ แม้ว่ามีคนมากพอสมควรก็ตาม แต่ก็อยู่กันอย่างสงบ เป็นระเบียบ บริเวณศูนย์ฯ เต็มไปด้วยป่าไผ่ออกดอกทุกกอ ทราบว่าศูนย์ปฏิบัติธรรมแห่งนี้ตั้งมาเพียงปีเศษ แต่สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ มีความพร้อมในการปฏิบัติธรรมเป็นอย่างมาก เห็นแล้วน่าภูมิใจ เป็นศูนย์ฯ พัฒนาได้รวดเร็วมาก อาคารที่มีอยู่ในขณะนี้ คือ ศาลาปฏิบัติธรรม ที่พักสงฆ์ ๓ หลัง โรงครัว โรงอาหาร เรือนพักผู้ปฏิบัติธรรมหญิง ๑ หลัง ชาย ๑ หลัง ห้องน้ำห้องส้วมมีเพียงพอที่จะอำนวยความสะดวก มีน้ำมีไฟฟ้าใช้ เครื่องนอน หมอน เสื่อ ผ้าห่ม เตรียมให้พร้อมเป็นอย่างดี ซึ่งตรงกันข้ามกับความคิดเดิมของดิฉันก่อนที่จะเข้ามาสวนเวฬุวัน คือเดิมคิดว่าคงจะลำบาก แต่ในเมื่อตั้งใจแล้วลำบากก็ต้องอดทน เมื่อมาสัมผัสจริงไม่มีความลำบากใจลำบากกายแต่ประการใด เพียงแต่หากในโอกาสต่อไป ญาติโยมมาปฏิบัติธรรมกันมากขึ้นที่พักอาศัยไม่เพียงพอ ทางศูนย์ฯ ก็คงมีโครงการที่จะขยายอยู่แล้ว โดยขอความร่วมมือร่วมใจจากผู้มีจิตศรัทธาหลาย ๆ ฝ่าย

       การอบรมตลอด ๗ วัน แบ่งเป็น ๓ ช่วง คือ ภาคเช้า ภาคกลางวัน และ ภาคค่ำ รับประทานอาหาร ๒ เวลา คือ เวลาเช้าและเวลาก่อนเที่ยง สำหรับเวลาค่ำดื่มน้ำปานะ ช่วงพักหลังการปฏิบัติธรรม ดิฉันเคยคิดว่าผู้ที่มาบริการในวัด เช่น แม่ครัว ผู้บริจาคอาหาร ผู้บริการช่วยตักแบ่งอาหาร ผู้ช่วยบริการจัดโต๊ะอาหาร รวมทั้งผู้ที่มาอำนวยความสะดวกสบายต่าง ๆ แก่คณะผู้มาปฏิบัติธรรม ล้วนเป็นผู้มีหน้าตาดี ท่าทางดี ผิวพรรณดี สอบถามดูท่านเหล่านั้นมีอาชีพเป็นพ่อค้า แม่ค้า นักธุรกิจ ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พยาบาล คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และประชาชนทั่วไป เข้ามาทำงานอย่างนี้ที่ศูนย์ฯ เพื่ออะไรกัน ไม่น่าจะเสียเวลาเลย เขาทำอย่างนี้เขาได้สิ่งใดกลับไป ไม่เห็นมีอะไรติดมือไปเลย เขาต้องเหนื่อยกาย..เขาทำเพื่ออะไร เหตุใด ทำไม หลังจากดิฉันมีโอกาสฟังเทศน์ฟังธรรมจากหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม จากเทปวิทยุและวิดีโอเทป และท่านผู้รู้แนะนำแล้ว จึงรู้และเข้าใจ ถ้าหากท่านผู้ใดยังมีความสงสัยอยู่ ขอเชิญมาสัมผัสด้วยตนเองนะคะ แล้วจะรู้เอง และเป็นสิ่งที่รู้ได้เฉพาะตนอีกต่างหาก

       ในระหว่างการปฏิบัติ จากวันแรกครูบาอาจารย์ผู้ให้การอบรมสั่งสอนแนะแนวทางด้านการปฏิบัติธรรมให้ และบอกตลอดเวลาว่ากำหนดสติให้รู้เข้าไว้ ไม่ว่าจะกำลังยืน เดิน นั่ง นอน ให้กำหนดรู้ตลอดเวลา วันแรกเริ่มปฏิบัติอย่างละ ๒๐ นาที และจะเพิ่มเวลาขึ้นเรื่อย ๆ ไปจนถึง ๑ ชั่วโมง ขณะที่กำลังนั่งสมาธิภาวนาอยู่ ถ้าเห็นเป็นภาพนิมิตต่าง ๆ ก็อย่าไปติดใจ ปล่อยให้ผ่านไป ในระหว่างปฏิบัติผู้เขาอบรมจะเกิดความสงสัย เห็นภูเขาจะไม่เป็นภูเขา แม่น้ำจะไม่เป็นแม่น้ำ หลังจากปฏิบัติครบกำหนดแล้ว ภูเขาก็ยังเป็นภูเขาเหมือนเดิม แม่น้ำก็ยังเป็นแม่น้ำเหมือนเดิม วันที่ ๒ ของการปฏิบัติ แม้ครูบาอาจารย์จะแนะนำก็ตาม บางครั้งเราไม่ใส่ใจมากนักก็ลืมคำบอก ภาคเช้าดิฉันสมาธิภาวนาในเวลาที่ครูบาอาจารย์กำหนดก็เห็นภาพนิมิตต่าง ๆ เกิดความสงสัย หลังจากรับประทานอาหารเช้าแล้วล้างแก้วล้างจานเสร็จ พอจะมีเวลาว่างอยู่ ได้สนทนากับเฮียฮ้อ หรือ คุณไชยา เกษมวิลาส ซึ่งท่านเป็นนักธุรกิจที่เอาใจใส่กับศูนย์ฯ นี้ตลอดมา จึงเล่าสิ่งที่ตนเองสงสัยให้ท่านผู้นี้ฟัง เฮียฮ้อเคยปฏิบัติมามากแล้ว ก็แนะนำดิฉันว่าบางคนที่เขาเคร่งครัดมาก เขาเห็นภาพอะไรจะไม่เล่าให้ใครฟังเลย เพราะกลัวกรรมฐานจะร่วง ไม่พูดคุยกับใคร เขาจะเขียนป้ายติดหน้าอกไว้เลยว่า “ขออภัยงดพูด” จนกว่าจะเสร็จสิ้นการอบรมจึงค่อยซักถามสอบอารมณ์ ดิฉันนึกในใจว่าถึงกับอย่างนั้นเชียวหรือ นับประสาอะไรตัวเราไม่ค่อยรู้เรื่องอย่างนี้ดีจะเที่ยวเล่าให้ใครฟังอีกไม่ได้ จะทำตามคำแนะนำของผู้รู้อย่างจริงจัง

       คติกรรมฐาน เขียนไว้ที่บริเวณใกล้ประตูศาลาปฏิบัติธรรม เดินเข้า-เดินออกก็มองเห็นว่า “กินน้อย นอนน้อย พูดน้อย ทำความเพียรมาก” ดิฉันพยายามทำตาม เพื่อนครูที่ปฏิบัติด้วยกัน ก็บอกให้ดิฉันรุ้ตัวเหมือนกันว่าดิฉันเริ่มเก็บหน่วยกิตบ้างแล้ว การอบรมปฏิบัติธรรมเริ่มเข้มข้นขึ้นทุกวัน วันที ๔-๕ ของการอบรมเริ่มเพิ่มเวลาขึ้นเรื่อย ๆ วันที่ ๖ สู้จนจะขาดใจ ช่วงเวลาค่ำหลังจากทำวัตรเย็นจบแล้ว พระอาจารย์เจ้าอาวาสก็ถามดูว่า วันนี้ใครมีความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติเป็นอย่างไร ท่านกวาดสายตามองดูครูทุกคน และมาพักสายตาที่ดิฉันพอดี จึงตอบท่านไปว่า “ทั้งเข้มทั้งเค็มค่ะ” พระอาจารย์บอกว่า “ก็ให้เดิน-ยืน-นั่ง อย่างละ ๑ ชั่วโมง ไม่เข้มได้ยังไง ดีนะไม่มีใครร้องไห้” (จริง ๆ ก็ร้องแต่น้ำตาไม่ออก มันตกใน) ได้ยินเสียงคณะผู้เข้าอบรมพึมพำ ๆ เพราะนึกไม่ถึงว่าจะปฏิบัติกันได้ถึง ๑ ชั่วโมง วันที่ ๗ ของการอบรมก็มั่นใจได้ว่าต้องทำได้

       มีอยู่วันหนึ่งที่ตรงกับวันพระ ดิฉันตื่นเต้นมากเพราะทราบจากทางวัดว่า วันพระจะมีคนภายนอกมาสวดมนต์ทำวัตรเย็นกันเยอะ ก็เป็นจริงตามนั้น เด็ก ๆ อายุ ๖-๑๐ ขวบ ก็นุ่งชุดขาวมากับครอบครัวด้วย และก็มีคนทุกเพศทุกวัยมาวัด นักเรียนรุ่น ม.๑-ม.๖ รุ่นหนุ่มสาว วัยทำงาน จนถึงวัยชรา ทำให้ศาลาปฏิบัติธรรมแน่นไปถนัด ท่านอาจารย์ ดร.ลำไย โกวิทยากร ผู้ถวายที่ดินสร้างวัด ๒๐ ไร่ และคณะก็มาร่วมสวดมนต์ด้วย วันพระการสวดมนต์เพิ่มบทพุทธคุณ ๑๐๘ จบ และปารมี ๓๐ ทัศ เป็นครั้งแรกในชีวิต ดิฉันตั้งใจสวนจนครบถ้วน

       ผลการปฏิบัติ รู้สึกว่าอยู่ที่วัดมีความเพลิดเพลินไปกับสิ่งที่ครูบาอาจารย์ให้ปฏิบัติ ลืมคิดถึงบ้านเพราะว่าอยู่ที่นี่ก็มีความสุขกายสุขใจดี ทางบ้านยินดีให้มาปฏิบัติธรรมเลยไม่ได้มีความวิตกกังวลสิ่งใด จึงทำให้ใจเป็นสมาธิดี ความรู้สึกส่วนตัวบอกตนเองว่า สบายใจเหลือเกิน ภูมิใจที่จะเดินก้าวเท้าออกนอกเขตวัดได้อย่างมั่นใจ เพราะเป็นศิษย์ที่มีครูด้านกรรมฐาน ได้รู้จักตนเองยิ่งขึ้น เดิมเป็นคนเจ้าอารมณ์ โกรธง่าย ปัจจุบันเอาชนะตนเองได้ บอกสอนตนเองได้ คิดว่าอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข

       การตั้งใจปฏิบัติและมีความศรัทธาอย่างแน่วแน่ มีอานิสงส์มาก ดิฉันตั้งใจปฏิบัติตามคำแนะนำของครูบาอาจารย์สอนอย่างเต็มความสามารถ เกิดผลดีอย่างมาก เป็นสิ่งแปลกใหม่ในชีวิตซึ่งประเมินค่าเป็นเงินไม่ได้ อยากให้คนส่วนมากหันมาสนใจด้านวิปัสสนากรรมฐานกันให้มากขึ้นค่ะ เป็นที่น่าอัศจรรย์ใจยิ่งนัก ดิฉันปรารถนาว่าหากบุญพาวาสนาส่งขอให้ได้เดินทางไปกราบหลวงพ่อจรัญที่วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี ในเร็ววันด้วยเถิด เพียง ๒ อาทิตย์ก็ได้ไปกราบท่านตามที่ตั้งใจ ทั้ง ๆ ที่หวุดหวิดจะพลาดอยู่แล้ว กล่าวคือชาวขอนแก่นโดยคณะของอาจารย์ ดร.ลำไย โกวิทยากร มีความประสงค์จะเดินทางไปวัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี ในวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๓๘ เพื่อถวายภัตตาหารเช้าและเพลเป็นสังฆทาน เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีประชนมายุครบ ๔๐ พรรษา ไปกันรถทัวร์ ๑ คัน ดิฉันสอบถามเจ้าหน้าที่เช็คตั๋วว่าเต็มหรือยัง เจ้าหน้าที่บอกว่าเต็มแล้ว มีอยู่ ๑ ที่มีคนจองไว้แต่ยังไม่ติดต่อมา รถออก ๔ ทุ่มครึ่ง ถ้าถึงเวลาเขาไม่มาคุณก็ได้ไป ก็ปรากฏว่าเขาไม่มา ติดธุระด่วน จึงได้ไปนมัสการท่านหลวงพ่อตามที่ตั้งใจ

       ขอแนะนำผู้ที่กำลังสนใจจะเข้าปฏิบัติธรรมเพื่อการทำใจให้สงบว่าสิ่งที่ต้องเตรียมตัวคือ

๑.   จิตใจของท่าเองพร้อมหรือยัง ขอให้มาด้วยความศรัทธาจะได้ผลเร็ว

๒.  ของใช้ส่วนตัวที่จำเป็น เช่น เสื้อผ้าชุดขาว ขันน้ำ สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ยาสระผม ยารักษาโรคส่วนตัว ยกเว้น มุ้ง หมอน เสื่อ ผ้าห่ม เหล่านี้ทางศูนย์มีให้เพียงพอ

สุดท้ายขอให้ท่านผู้อ่านจงมีความสุขกายสุขใจ โชคดีมีสุขยิ่ง ๆ ขึ้นเทอญ..

 

นางสายยุทธ รัตนวิสุทธิพันธ์

โทร. (๐๔๓) ๒๖๑-๓๕๗