ลูกได้บวชในโครงการสามเณรใจเพชร ๒

สายยุทธ รัตนวิสุทธิพันธ์

V10001

 

       อันสืบเนื่องมาจากการที่ดิฉันเริ่มเข้าวัดปฏิบัติธรรม ที่ศูนย์อบรมพัฒนาจิตสวนเวฬุวัน อ.เมือง จ.ขอนแก่น ตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๓๘ เป็นต้นมา ดิฉันจึงมีโอกาสเข้าไปศูนย์ฯ อยู่เสมอ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ ที่ผ่านมา เป็นแผ่นโปสเตอร์ติดประกาศไว้ที่บริเวณลงทะเบียนผู้เข้าปฏิบัติธรรมศูนย์ฯ เวฬุวัน เป็นแผ่นกระดาษขนาดใหญ่มีข้อความว่า “ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับพระราชสุทธิญาณมงคล (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม) วัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ขอเชิญกุลบุตรผู้มีอายุไม่ต่ำกว่า ๑๒ ปี และกำลังเรียนอยู่ชั้น ม.๑ ขึ้นไป เข้าร่วมโครงการ “สามเณรใจเพชร” รุ่นกาญจนาภิเษก เพื่อพัฒนาตนเองให้มีความอดทนมีระเบียบวินัย โดยการบรรพชาเพื่อศึกษาและปฏิบัติธรรมแบบสติปัฏฐาน ๔ ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ต้องสมัครล่วงหน้า สอบข้อเขียนผ่านการเตรียมความพร้อมและคัดเลือกเป็นเวลา ๒ สัปดาห์ ก่อนที่จะเข้าบวชเป็นสามเณรอย่างเคร่งครัดไปด้วยศีลและจริยาวัตร ณ วัดอัมพวัน ทางโครงการฯ จะสอบคัดเลือกในวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๓๙ ที่ยุวพุทธฯ และลาสิกขาบทในวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๓๙ ผู้สนใจสามารถขอรายละเอียดได้ที่ ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย เลขที่ ๕๘/๘ ซอยเพชรเกษม ๕๔ (เยื้องฟิวเจอร์พาร์ค บางแค) ถนนเพชรเกษม เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ๑๐๑๖๐ โทร. ๘๐๕-๐๗๙๐-๔, ๔๑๓-๑๙๕๘, ๔๑๓-๑๗๐๖ หรือที่วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี รับสมัครตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๓๙ หรือเมื่อครบ ๑๕๐ ท่านแรกเท่านั้น ผู้สมัครไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น”

       การบวชตามโครงการฯ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๙ นี้เป็นรุ่นที่ ๒ พระเดชพระคุณหลวงพ่อจรัญให้ชื่อว่า “โครงการสามเณรใจเพชร รุ่นกาญจนาภิเษก” เพราะเป็นรุ่นร่วมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสทรงครองราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ซึ่งครองราชย์นานกว่าพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ที่ผ่านมา ดิฉันได้นำข่าวดีนี้มาบอกลูกหลาน พวกเขาตกลงใจสมัครทันที่ สอบถามดูเขาบอกว่ามีความมั่นใจทั้ง ๒ คน จึงได้ไปขอใบสมัครจาก พระอาจารย์ธีรวัฒน์ ฐานุตตโร หัวหน้าผู้ดูแลศูนย์ฯ พระอาจารย์ให้คำแนะนำในการกรอกใบสมัครเป็นอย่างดี และยังเมตตาอธิบายทำความเข้าใจด้วยว่า ทุกคนที่ยื่นใบสมัครต้องผ่านการทดสอบความอดทนก่อนที่จะเข้าบวชตามกำหนดการดังนี้

วันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๓๙        -  มอบตัวที่ศูนย์ฯ เวฬุวัน

            วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๓๙           -   เดินทางไปกรุงเทพฯ

         วันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๓๙        -  เดินทางไปยุวพุทธฯ

       วันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๓๙        -  เดินทางจากยุวพุทธฯ ไปวัดอัมพวัน

       วันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๓๙        -  ทำพิธีบวชที่วัดอัมพวัน

       วันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๓๙       -  ลาสิกขา

       ขั้นตอนการทดสอบความอดทนอยู่ที่ยุวพุทธฯ เป็นเวลา ๑๐ วัน คณะกรรมการและพี่เลี้ยงของทางยุวพุทธฯ จะแจ้งให้ผู้ปกครองทราบว่าผ่านหรือไม่ผ่าน ในวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๓๙ สำหรับผู้ที่สอบผ่านให้อยู่ต่อเตรียมบวช ส่วนผู้ที่ไม่ผ่านให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน ทราบว่ามีผู้สมัครจากทั่วประเทศ ๑๓๐ คน ผ่านการทดสอบ ๗๑ คน

       ในระหว่างที่รอฟังข่าวนี้ ดิฉันภาวนาให้ลูกและหลานสอบผ่านด้วยเถิด ผลปรากฏว่าลูกสอบผ่าน แต่หลานไม่ผ่าน มีเด็กที่สมัครไปจากศูนย์ฯ เวฬุวัน จำนวน ๒๐ คน ผ่าน ๘ คน ไม่ผ่าน ๑๒ คน ทั้ง ๑๒ คนนี้พระเดชพระคุณหลวงพ่อเมตตาบวชให้ในวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๓๙ และได้ปฏิบัติธรรมที่ศูนย์ฯ จนกระทั่งลาสิกขาในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๓๙ ที่ผ่านมา พระอาจารย์ธีรวัฒน์ และพระอาจารย์ทุกรูปที่ศูนย์ฯ รวมทั้งคณะกรรมการตลอดจนผู้มีจิตศรัทธาทุกท่าน ได้ให้ความสงเคราะห์ ให้เมตตาธรรมดูแลสามเณรน้อยทั้ง ๑๒ รูป เป็นอย่างดียิ่ง ลูกชายของดิฉันที่เข้าบวชในครั้งนี้ชื่อ เด็กชายปิยะพงษ์ รัตนวิสุทธิพันธ์ ชื่อเล่น ปังปอนด์ อายุ ๑๓ ปี กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ โรงเรียนท่าพระวิทยายน ต.ท่าพระ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ๔๐๒๖๐ ดิฉันได้มาร่วมในพิธีบวชด้วย มีความประทับใจในการทำงานอย่างเป็นระบบของยุวพุทธฯ คณะกรรมการและพี่เลี้ยง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ และเจ้าหน้าที่ทางวัดอัมพวันทุกคนทำงานกันอย่างคล่องแคล่ว ไม่มีสิ่งใดที่ผู้ปกครองหนักใจเลย เห็นแล้วน่าเลื่อมใสศรัทธายิ่งนัก นับว่าเป็นบุญวาสนาของสามเณรทุกรูป และเป็นบุญของผู้ปกครองทุกคนที่ได้มาสัมผัสกับโครงการฯ สามเณรเหล่านี้อยู่ในความดูแลอย่างใกล้ชิดของท่านพระครูภาวนานุกูล (ชูชัย อริโย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสฝ่ายวิปัสสนาธุระ และพระอาจารย์ทางวัดอัมพวันหลายรูป รวมไปถึงคณะกรรมการยุวพุทธฯ โดยเฉพาะ คุณมณเธียร ธนานาถ (จบปริญญาโทบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ) เป็นผู้ประสานงานให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่น

       ในวันลาสิกขาบท ทางยุวพุทธฯ แจ้งให้ผู้ปกครองไปรับเด็กที่ศูนย์วิปัสสนากรรมฐาน ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ผู้ปกครองทุกท่านมีความประทับใจมาก เพราะจัดกิจกรรมที่ดี กล่าวคือ จัดเตรียมห้องใหญ่เป็นที่ต้อนรับ ปรากฏว่าผู้ปกครองและญาติมิตรมากันเต็มห้อง และยังมีคนอีกส่วนหนึ่งรออยู่นอกห้อง เรียกได้ว่าที่นั่งไม่เพียงพอเลยทีเดียว เจ้าหน้าที่ทุกท่านต้อนรับด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส

       พิธีการได้จัดให้เด็กทำพิธีขอขมาพ่อแม่ของตนเอง เด็กกราบขอพรจากพ่อแม่ ส่วนพ่อแม่ถือโอกาสนี้รับขวัญลูก ช่วงนี้มีการขับทำนองเสนาะรับขวัญยุวบัณฑิต (อดีตสามเณร) ฟังแล้วมีความซาบซึ้งในเป็นอย่างยิ่ง เด็กสำนึกในพระคุณของพ่อแม่จนน้ำตาไหล ส่วนพ่อแม่มีความปลื้มปีติที่ลูกของตนเองเป็นคนดี มีความกตัญญูรู้คุณ รูปบาปบุญคุณโทษ มองดูเห็นพ่อ-แม่-ลูก ทุกคู่ต่างก็มีความตื้นตันใจ กลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ ร้องไห้กันทุกคน เป็นบรรยากาศที่น่าประทับใจ เป็นภาพแห่งความทรงจำไม่มีวันลืม จากนั้นยุวบัณฑิต (สามเณรสึกใหม่) ก็ทยอยกันเข้าไปกราบลาครูบาอาจารย์และพี่เลี้ยง ท่านประธานได้แก่นายกกิตติมศักดิ์ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยคือ พันเอก (พิเศษ) ทองคำ ศรีโยธิน ได้ให้เกียรติมาให้ข้อคิดกับเด็ก ๆ ก่อนกลับบ้านไป และได้บอกกับผู้ปกครองทุกคนว่า “ท่านได้ลูกคนใหม่กลับบ้าน เป็นลูกแก้วลูกขวัญของคุณพ่อคุณแม่ ท่านได้เพชรไปประดับบ้านกันทุกคน ขอให้เด็กทุกคนจงรักษาคุณงามความดีนี้ตลอดไป” ประธานรุ่นของสามเณรใจเพชร รุ่นที่ ๒ ชื่อ นายสมบูรณ์ รัศมี เป็นนิสิตปีที่ ๒ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

       ดิฉันในฐานะเป็นผู้ปกครองคนหนึ่งของรุ่นนี้ ขอกราบนมัสการขอบพระคุณ พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชสุทธิญาณมงคล เป็นอย่างสูงยิ่ง ขอให้หลวงพ่อมีบุญบารมีสูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป รวมทั้งผู้ที่เป็นเจ้าภาพในการบวช ท่านผู้มีจิตศรัทธาอุปการะ บริจาคอาหาร บริจาคเครื่องอุปโภคบริโภค ทุกอย่างตลอดไปจนถึงเจ้าหน้าที่ทางวัดอัมพวันทุกท่าน พระอาจารย์ คณะทำงานทุกรูป อีกทั้งกรรมการยุวพุทธิกสมาคมและเจ้าหน้าที่ทุกท่านในโครงการยุวพุทธฯ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในงานนี้ ขอกราบขอบพระคุณทุกท่านที่กล่าวมาเป็นอย่างสูงยิ่ง ที่ได้ให้ความอนุเคราะห์ เมตตาส่งเสริมให้เด็กชายทั่วประเทศได้มาสัมผัสรับรู้ในสิ่งที่ดีงาม นับว่าเป็นมงคลแก่เด็กที่มาบวชทุกคน พวกเข้าตั้งใจมาน้อมรับธรรมะจากหลวงพ่อ ตั้งใจปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัดเพื่อเป็นมงคลชีวิต เพื่อให้เกิดผลดีแก่ตัวเขาเอง ต่อพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ญาติ มิตร พี่น้อง และผู้มีพระคุณ

       ความประทับใจนี้จะไม่มีวันลืม ดิฉันจะจดทำชื่อ วัดอัมพวัน ชื่อ ศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวัน และชื่อ ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ตลอดไป ขออนุโมทนาบุญกุศลในการกระทำความดีงามของทุกฝ่าย ที่มีส่วนร่วมในโครงการฯ ขอให้ทุกท่านจงได้รับแต่ความร่มเย็นเป็นสุข มั่งมีศรีสุข ได้รับแต่สิ่งที่เป็นมงคล มนุษย์สมบัติครบถ้วนทุกประการโดยทั่วกัน

       สำหรับตัวดิฉันเอง หลังจากเสร็จพิธีบวชลูกเณรแล้ว ได้อยู่ปฏิบัติธรรมที่วัดอัมพวันต่อไปจนถึงวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๓๙ มาครั้งนี้ได้อธิษฐานจิตว่า ขอให้ได้พบสิ่งแปลกใหม่ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนด้วยเถิด ก็ได้พบ เป็นประสบการณ์ตรงหลายอย่าง แต่จะเล่าให้ฟังเพียง ๓ เรื่องคือ

๑.   พบว่าเงินงอก

๒.  พบว่าหลวงพ่อปล่อยเปรต

๓.  พบว่าวันกตัญญูและการบังสุกุลร่วมญาติเป็นของดี

เรื่องเงินงอก

            อยู่ที่วัดอัมพวัน ๑๕ วัน ตรงกับวันพระอยู่ ๒ ครั้ง ดิฉันจะสวดมนต์ตามแบบฉบับของศูนย์ฯ เวฬุวัน คือทุกวันพระหลังจากสวดมนต์ทำวัตรเย็นเสร็จแล้ว จะสวดมนต์บทพุทธคุณ ๑๐๘ จบ ตามด้วยบารมี ๓๐ ทัศ ก่อนนอนก็กราบลงที่หมอนโดยเอากระเป๋าเงินวางไว้ใต้หมอนทุกคืน ห้องพักหนึ่ง ๆ จะมีผู้ปฏิบัติธรรมพักด้วยกันหลายคน ได้รู้จักกันไปตามวาระที่มาอยู่ ก็ทักทายพูดคุยกันไปตามอัธยาศัย ได้รู้จักกับ คุณพี่ลินดา ไชยชนะ อายุ ๔๗ ปี เป็นคนจังหวัดแพร่ แต่มามีครอบครัวอยู่ที่กรุงเทพฯ มาอยู่ ๗ วัน จากวันที่ ๓-๗ เมษายน มีกำหนดกลับบ้านก่อน ก่อนกลับคุณพี่ให้เงินดิฉัน ๒๐๐ บาท บอกว่าพี่ให้เธอเป็นค่ารถกลับบ้าน ดิฉันบอกว่าเราไม่เคยรู้จักมาก่อน ไม่ได้เป็นญาติพี่น้องอะไรกัน และที่สำคัญดิฉันไม่ได้ทำประโยชน์ให้กับคุณพี่เลย ไม่กล้ารับหรอกค่ะ เกรงใจ ขอขอบพระคุณมาก ขอให้คุณพี่เก็บไว้เถอะ ท่านไม่ยอมท่านบอกว่าพี่สงสารเธอ กว่าจะกลับบ้านเหลืออีกตั้งหลายวัน เผื่อได้ทำบุญทำทานอีก ดิฉันสังเกตดูสีหน้าท่าทางคุณพี่ลินดาพูดจริง คงให้ด้วยความจริงใจ จึงกล้ารับเงินนั้นไว้ด้วยความขอบพระคุณเป็นอย่างสูง แต่ไม่สบายใจอยู่ดี เมื่อคุณพี่กลับบ้านแล้วดิฉันได้แผ่เมตตาให้ท่านและครอบครัวทุกวัน มีอยู่วันหนึ่งอ่านพบคำกลอนสอนจิตที่เขียนติดตามต้นไม้ในบริเวณวัด ในกลอนที่ว่า

       “สิ่งใดที่เขาให้โดยไมตรี    อย่าแสดงท่าทีว่ามิสม

       ควรรับด้วยจิตใจใฝ่นิยม   เพื่อให้ผู้ชื่นชมสมน้ำใจ”

       ดิฉันคิดในใจว่า แหม! เราเกือบไม่รับเงินไว้เสียแล้ว ไม่อย่างนั้นคุณพี่คงเสียใจแย่เลย เหตุการณ์เช่นนี้พอที่จะเรียกว่าเงินงอกได้หรือไม่ ช่วยคิดด้วยค่ะ

เรื่องหลวงพ่อปล่อยเปรต

       มีอยู่วันหนึ่ง ผู้ปฏิบัติธรรมทุกท่านได้ไปฟังธรรมจากหลวงพ่อบนศาลาสุธรรมภาวนา เพราะมีคนมาก ในเวลาค่ำหลวงพ่อเทศน์โปรดสอนธรรมะ ข้อปฏิบัติต่าง ๆ ก็ฟังด้วยความตั้งใจ อยากบอกบางท่านที่เคยสวดมนต์บทพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ และบทสังฆคุณนี่เอง ที่หลวงพ่อเน้นเป็นพิเศษ เพราะบางท่านออกเสียงไม่ถูกในวรรคที่ว่า อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย คำว่า เนย, เณย ให้ออกเสียงเป็น ไน ภาษาพูดต่างหาก ภาษาเขียนต่างหาก ขอให้จำกันไปใช้ให้ถูกต้อง มีบางครั้งที่ท่านถามนักปฏิบัติธรรมบ้าง ท่านถามว่ามีใครเคยเห็นเปรตบ้างไหม ไม่มีใครตอบได้แต่ยิ้ม ๆ กัน หลวงพ่อจึงบอกว่าเปรตก็อยู่ในชุดขาวนี่ไง เทวดาก็อยู่ในชุดขาวนี่ไง วันนี้หลวงพ่อจะปล่อยเปรต คอยดูซิว่าใครจะรับเปรตหลวงพ่อได้บ้าง ท่านเทศน์อยู่นานพอสมควรจึงปล่อยให้เข้าที่พักของตนเอง ต่างคนต่างก็แยกย้ายกันไป ลงศาลากันไปตามลำดับ ก่อนจะเข้าห้องพักเก็บเสื้อผ้าที่ตากไว้ที่ราวตากผ้าในอาคารที่พัก ก็พบว่าเสื้อชั้นในที่ซื้อใหม่หายไป ในจิตใจคิดว่าอาจมีคนหยิบผิด เขาคงเอามาคืนที่เดิมกระมัง รออยู่ ๒-๓ วัน ไม่เห็นวี่แวว จึงได้รู้ว่าเจอเปรตที่หลวงพ่อปล่อยมาขอส่วนบุญเข้าให้แล้ว ก็เลยคิดได้ว่าดีแล้วที่เรามีให้เขาขอ

เรื่องที่ ๓ วันกตัญญูและการบังสุกุลร่วมญาติเป็นของดี วันที่ ๑๕ เมษายนของทุกปี เป็นวันกตัญญูและเป็นวันรดน้ำดำหัวของเราชาวไทย คณะศิษยานุศิษย์ไปสรงน้ำหลวงพ่อกันมากมาย ยืนเข้าแถวเรียงสองเป็นระยะทางยาวประมาณ ๑-๒ กิโลเมตร จากเวลา ๑๔.๐๐ น. ถึงเวลา ๑๖.๓๐ น. สำหรับภาคเช้ามีการทำบุญตักบาตร ทำบังสุกุลร่วมญาติ หลวงพ่อได้ทำบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษและครูบาอาจารย์ผู้ล่วงลับไป อาทิเช่น ท่านเจ้าอาวาสวัดอัมพวันในอดีต และผู้มีอุปการคุณต่อทางวัดด้วย ส่วนผู้ที่ไปร่วมงาน ท่านให้ทุกคุณเขียนชื่อ-นามสกุลของญาติตนเองที่ล่วงลับ เขียนชื่อในแผ่นกระดาษซึ่งทางวัดจัดเตรียมไว้ ส่วนปัจจัยคือเงิน และแต่ใครจะบริจาค รวมทั้งสิ่งของต่าง ๆ ที่ผู้มีจิตศรัทธาจะทำสังฆทาน จากนั้นพิธีกรประกาศให้ทุกคนตั้งใจอุทิศส่วนกุศลแก่ญาติที่ล้มหายตายจากไป ขณะที่ดิฉันหลับตาอธิษฐานจิตอยู่นั้น ก็มีภาพนิมิตเป็นผู้ชายสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ผูกเนคไท ยืนอยู่ในที่เวิ้งว้าง ภาพค่อยชัดขึ้น ๆ จึงกำหนด รู้หนอ ๆๆ ภาพนั้นคือพี่ชายของสามีซึ่งเสียชีวิตไปเมื่อ ๓ ปีก่อน และนึกได้ว่าไม่ได้เขียนชื่อเขาในแผ่นกระดาษ จึงภาวนาให้เขามารับส่วนบุญในครั้งนี้ด้วย ภาพนั้นค่อย ๆ หายไปในที่สุด

       ในวันกตัญญูนี้สิ่งที่หลวงพ่อทำให้ญาติโยมเห็นเป็นตัวอย่าง ก็คือหลวงพ่อจัดหาสิ่งของ เสื้อผ้าและเงินใส่ซอง เตรียมไว้เป็นชุด เพื่อมอบให้ผู้สูงอายุ เป็นการตอบแทนบุญคุณที่ได้ช่วยเหลือในกิจการงานของวัด ประมาณ ๒๐ คน ซึ่งแต่ละท่านมีอายุประมาณ ๗๐ ปีขึ้นไป ก่อนที่จะมอบให้คนอื่น หลวงพ่อท่านได้มอบให้คุณแม่ของท่านเอง คุณแม่ของหลวงพ่อยังแข็งแรง อายุมากกว่า ๙๐ ปี ผู้ที่พบเห็นเหตุการณ์ในวันนั้น มีความประทับใจในจริยาวัตรอันงดงามของหลวงพ่อยิ่งนัก หลวงพ่อบอกว่า พ่อแม่คือพระอรหันต์ของลูก ผู้ที่เคารพบูชาพ่อแม่ จะทำกิจการงานสิ่งใดก็เจริญรุ่งเรือง จะเห็นว่าหลวงพ่อพยายามพร่ำสอนชี้แนะแนวทางดีงามมานานแล้ว ไม่ใช่สอนคนอย่างเดียว ท่านยังปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สาธุชนอีกด้วย นับเป็นบุคคลตัวอย่างที่หาได้ยากในสังคมปัจจุบัน

       ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก ได้โปรดคุ้มครองหลวงพ่อให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง มีอายุมั่นขวัญยืน มีบุญบารมีสูงยิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วยเทอญฯ