โครงการแสงธรรมนำชีวิตประจำปี ๒๕๔๔

V15003

 

       ในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ นี้ ศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวัน ได้จัดโครงการอบรมพัฒนาจิต ซึ่งเป็นโครงการหลักประจำปี ภายใต้ชื่อโครงการว่า “โครงการแสงธรรมนำชีวิต”

       โครงการนี้ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ จนกระทั่งถึงปัจจุบันรวมเป็น ๔ รุ่นคือ รุ่นพิเศษ, รุ่นที่ ๑, รุ่นที่ ๒, รุ่นที่ ๓ และในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ นี้ ทางศูนย์ปฏิบัติธรรมฯ ได้จัดให้มีการอบรมขึ้นอีก ๒ รุ่นคือ

.  โครงการแสงธรรมนำชีวิต สำหรับประชาชนทั่วไปรุ่นที่ ๓ รับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการฯ คือ ประชาชนทั่วไป ชาย-หญิง อายุ ๒๑ ปีขึ้นไป เข้ารับการอบรมโครงการระหว่างวันที่ ๑๔ –๒๑ เมษายน ๒๕๔๔

.  โครงการแสงธรรมนำชีวิต สำหรับเยาวชนรุ่นที่ ๔ รับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการฯ คือ เป็นเยาวชน ชาย-หญิง อายุระหว่าง ๑๒-๒๐ ปี เข้ารับการอบรมโครงการระหว่างวันที่ ๒๒ – ๒๙ เมษายน ๒๕๔๔

ซึ่งทั้งสองโครงการได้สำเร็จลุล่วงไปเป็นอย่างดียิ่ง ผู้เข้ารับการอบรมสามารถนำความรู้ไปใช้ในการศึกษาเล่าเรียน การทำงาน มีความเข้าใจในพระพุทธศาสนา เชื่อในกฎแห่งกรรม รู้ซึ้งถึงความกตัญญูต่อมารดาบิดา ครู อาจารย์ ผู้มีพระคุณ และสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งความสำเร็จของโครงการนี้จะเห็นได้จากบทความ ของกลุ่มเยาวชนโครงการแสงธรรมนำชีวิต รุ่น ๔ ที่ได้เขียนบทความบรรยายความรู้สึกไว้ดังนี้

 

“สว่างตาต้องอาศัยแสงไฟ สว่างใจต้องอาศัยแสงธรรม”

กลุ่มเยาวชนโครงการแสงธรรมนำชีวิต รุ่น ๔/๒๕๔๔

       ฟังก่อนท่านผู้ใคร่ธรรมสัมมาปฏิบัติ เสียงอะไรที่เราได้ยินมาจากเครื่องกระจายเสียง ก็บางคนที่ได้ยินมาจากเครื่องกระจายเสียง ก็บางคนที่ได้แค่ฟังแล้วผ่านไปเลย มองเห็นผู้คนมากมายจากร้อยพ่อพันแม่มาอยู่รวมกัน ณ ศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวันแห่งนี้ เพื่อจะมาทำกิจกรรมร่วมกัน กิจกรรมนั้นเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมคุณธรรมของเยาวชน พ่อแม่ทั้งหลายต่างสนใจและยินดีที่ได้ส่งบุตรหลานเข้ามาร่วมกิจกรรมนี้

              “แสงธรรมนำชีวิต”        ให้รู้คิดและสร้างสรรค์

       ช่วยเหลือและแบ่งปัน            ด้วยจิตมั่นวิปัสสนา

              กรรมฐานท่านสอนสั่ง     ให้เรานั่งยืนเดินหนา            

       กำหนดจิตเมตตา                 เจริญภาวนาเพื่อรู้ธรรม

              “สร้างคนให้เป็นคน”      ให้หลุดพ้นซึ่งเวรกรรม

       หลักธรรม ช่วยชี้นำ               ทำชีวิตให้งดงาม

              เยาวชนต่างนอบน้อม     พร้อมน้อมรับปฏิบัติตาม 

       เพิ่มพูนประสบการณ์             เพื่อรู้ค่า ความเป็นคน

 

       โอ้...เราเห็นแล้ว โครงการนี้คือ โครงการแสงธรรมนำชีวิตของเยาวชน ที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวันนั่นเอง ท่านลองมองดูความรู้สึกของเขาเหล่านั้นสิ หลาย ๆ ความรู้สึกก่อนที่จะเข้ามาร่วมกิจกรรม ความรู้สึกที่พอรู้ว่า จะต้องมาอยู่ใต้ร่มพัทธสีมา บ้างก็กลัวว่าตนจะพบอุปสรรค ความไม่สบายต่าง ๆ นานา เช่น ระยะเวลาของโครงการอยู่ในช่วงเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่อากาศร้อนอบอ้าว เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรม ในช่วงวัยเด็ก สถานที่ ๆ เรียกว่า “วัด” เป็นสถานที่ ๆ อยู่ไกลตัวเหลือเกิน วัดเป็นเพียงสถานที่สำหรับคนแก่ซึ่งต้องอยู่ในอาการสำรวม เว้นซึ่งความสนุกสนานรื่นเริง ความรู้สึกที่จะต้องมาอยู่ร่วมกับคนส่วนมาก ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ความเหงา ความอ้างว้างโดดเดี่ยว คิดถึงบ้าน ก็ได้เกิดขึ้นในจิตใจ เป็นความรู้สึกหวาดหวั่น เหมือนกับเด็กนักเรียนที่ต้องก้าวเข้ามาอยู่ในโรงเรียนใหม่ แต่เมื่อก้าวมาในวัด ความรู้สึกที่ดีตั้งแต่เริ่มแรกที่ก้าวเข้ามาถึงในบริเวณวัด คือ ความประทับใจกับสถานที่ บริเวณรอบ ๆ วัดสงบร่มเย็น เป็นระเบียบ นับได้ว่าเป็นวัดที่นำสมัย มีความเป็นสากล มีเครื่องอำนวยความสะดวกตามสมควร ซึ่งเหมาะกับสภาพสังคมไทยในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดึงดูดเยาวชนรวมถึงบุคคลทุกเพศทุกวัย ให้เข้าร่วมโครงการนี้เป็นอย่างดี ณ ที่แห่งนี้คือสถานที่ที่พิเศษ ศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวัน คือ สถานที่ที่ทำให้คนเป็นคนที่วิเศษที่สุดด้วยคุณธรรมคำสั่งสอน

       ตั้งแต่เริ่มแรกที่มาสมัครเข้าร่วมโครงการ อาจารย์และบุคลากรทุกท่านก็ได้มอบความรัก ความเอ็นดูเอาใจใส่ดูแลพวกเราเหมือนลูกหลาน อีกทั้งยังเป็นกำลังใจให้กับเยาวชนในการสร้างความดีในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่พัก อาหาร ยารักษาโรค ยามเมื่อเยาวชนเจ็บป่วย รวมไปถึงความปลอดภัยในด้านต่าง ๆ

       ส่วนในเรื่องของการปฏิบัติธรรมนั้น พวกเราต่างเห็นแล้วว่า การปฏิบัติธรรมเป็นการทำให้เรารู้จักตนเอง ทำให้สามารถรู้และรำลึกถึงอารมณ์จิตใจของตนเอง ให้เรารู้สึกระงับอารมณ์จิตใจให้สงบเป็นกลาง ไม่เป็นเพียงแค่การปฏิบัติกรรมฐานเท่านั้น การเข้าร่วมโครงการทำให้เราได้รู้และปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องในด้านการวางตัว และมารยาทชาวพุทธ ไม่ว่าจะเป็นการกราบ ไหว้ รวมไปถึงให้พวกเราทุกคนรู้จักกตัญญูกตเวทีต่อพระคุณของมารดาบิดา ที่เราไม่อาจทดแทนให้หมดสิ้นได้ สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ให้เรารู้จักรักตนเอง รู้จักรับผิดชอบในหน้าที่ของการงานของตนเอง

 

เหตุการณ์ที่พวกเราประทับใจ

      เมตตาของพระครูสมุห์ธีรวัฒน์ ฐานุตตโร

       ยกตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๔๔ ในขณะที่ท่านพระครูกำลังเทศนาธรรมสั่งสอนพวกเราอยู่ในช่วงบ่าย ได้เกิดพายุฝนลมพัดกระหน่ำ ฝนสาดเข้ามาภายในศาลา กระแสไฟฟ้าดับ เยาวชนทุกคนเกิดความตื่นตระหนก และหวาดกลัว ในขณะที่ท่านพระครูกำลังบรรยายอยู่ ท่านก็พยายามปลอบใจให้พวกเราสงบ แล้วท่านก็ลงจากศาลาไปดูความเรียบร้อย แม้ว่าสายฝนจะทำให้จีวรของท่านพระครูเปียก แต่ท่านก็ยังอุตส่าห์ขึ้นมาบนศาลา พร้อมด้วยเครื่องขยายเสียง คำพูดที่ท่านกล่าวทำให้พวกเรารู้สึกประทับใจเป็นอย่างยิ่งคือ “แม้หลังคาของศาลานี้จะถูกพัดไปด้วยแรงลม แต่พวกเราก็จะยังมั่นคงอยู่รวมกันไม่ไปไหน” เป็นคำพูดที่สร้างขวัญและกำลังใจ ทำให้พวกเรารู้สึกว่าท่านเป็นห่วงพวกเราจากใจจริง และทุ่มเทแรงกาย แรงใจให้กับพวกเราในการปฏิบัติธรรมครั้งนี้

       การฟังการบรรยาย

       วิทยากรทุกท่านที่ท่านพระครูได้เชิญมาบรรยายให้ความรู้แก่พวกเรา ล้วนแล้วแต่เป็นบุคลากรที่ล้วนมีความสามารถ อาทิเช่น ท่านอาจารย์ผาณิต กันตมระ ซึ่งท่านเป็นนักพูดดีเด่นประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๖ รวมทั้งวิทยากรทุกท่านได้ให้ความเป็นกันเองแก่พวกเราทุกคน ทั้งยังเป็นกำลังใจ มอบความรักความปรารถนาดีแก่พวกเราทุกคน รวมถึงได้ให้ข้อคิดในการดำเนินชีวิต เช่น

       “สว่างตาต้องอาศัยแสงไฟ สว่างใจต้องอาศัยแสงธรรม”

       “เราเปลี่ยนแปลงอดีตไม่ได้ แต่เราสามารถปรับปรุงอนาคตได้”

       “การชนะคนอื่นหมื่นแสน ไม่เท่าชนะใจตนเอง”

       การรับประทานอาหาร

       เมื่อท้องเริ่มหิว เราก็คิดถึงโรงทาน พวกเราขอขอบพระคุณทุกท่าน ที่ได้ให้การบริการ และบางท่านที่ช่วยบริจาคอาหาร ตลอดจนพี่เลี้ยงที่สละแรงกายแรงใจ

       กิจวัตรประจำวัน

       ในแต่ละวัน ตั้งแต่เช้ามืดของทุกวัน เมื่อถึงเวลาตีสามสี่สิบห้า เมื่อเสียงระฆังดังขึ้น พวกเราทุกคนที่เข้ามารับการอบรม ต่างต้องสลัดความเกียจคร้าน ตื่นขึ้นเพื่อทำกิจธุระส่วนตัว เพื่อเตรียมตัวขึ้นไปสวดมนต์ทำวัตรเช้า น้องเล็ก ๆ บางคนจะอาบน้ำบ้างไม่อาบน้ำบ้าง ถ้าคนไหนไม่ทันเวลาก็แอบซักแห้งไปในตัว

       โยโส ภะคะวา... เสียงของพระอาจารย์ดังขึ้น แสดงว่าเริ่มทำวัตรเช้ากันแล้ว พอเริ่มสวดไปได้สักหน่อย พวกเราบางคนก็แสดงอากรแปลก ๆ ออกมาให้เห็น เช่น “ตอดเงา” (สัปหงก) บางคนมีการเหมากราบรอบเดียวจบ (ไม่ได้ขี้เกียจนะ แต่ไม่ได้ลุกขึ้นเท่านั้นเอง คือ กราบยาวไปจนกระทั่งสวดมนต์จบ) นี่ขนาดแค่วันแรก บางคนก็เกิดอาการ “ใจแป้ว” จนคิดจะออกธุดงค์กลับบ้านแล้ว

       พอกลางวัน อากาศก็เริ่มร้อน ท้องก็เริ่มหิว ตาก็ชักลาย เสียงกำหนดในใจก็ดังแทรกขึ้นมาว่า “เมื่อไหร่หนอ จะได้ทานข้าวสักทีหนอ ส้มตำหนอ ลาบหนอ โอ๊ยหิวแล้วหนอ..”

       และแล้ว “เม๊ง เม๊ง เม๊ง” เสียงสวรรค์ของเราดังขึ้น ได้เวลาทานข้าว แต่เมื่อมาถึงโรงทานอาหารที่ได้รับมื้อแรก คือ ข้าวต้มน้ำสีขุ่น ๆ (ไอ้น้ำสีขุ่น ๆ ก็คือ โกโก้)” น่าตกใจจัง จะอิ่มไหมหนอ เดี๋ยวก็เหลือแค่มื้อกลางวันอีกมื้อเดียว มื้อเย็นก็ต้องอดเสียด้วยสิ ทำอย่างไรดี อยากจะเบิ้ลก็เบิ้ลไม่ได้ อ๊ายอาย เพราะมองไปคนต่อแถวก็มีแต่น้อง ๆ เยาวชนชาย เยาวชนหญิง ฮึ! แต่ยังไงวันแรกนี้เราก็ต้องขอตั้งปณิธานไว้ก่อนว่า “ด้านได้ อายอด”

       นี่คือตัวอย่างจากประสบการณ์เพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น ถ้าอยากรู้มากกว่านี้ว่าพวกเราได้เรียนรู้อะไร ได้สิ่งดี ๆ มากมายแค่ไหน ก็ขอให้เพื่อน ๆ และน้อง ๆ ที่สนใจลองมาสมัครดูในปีหน้า

       ขอบอกเลยว่า พวกเราเสียดายมากกับเด็กบางคนที่กลับบ้านไป โดยที่ยังไม่รู้ว่ากิจกรรมวันหลัง ๆ ต่อมาเป็นอย่างไร กิจกรรมที่ดี ๆ มีประโยชน์อย่างนี้นาน ๆ ทีถึงจะมีสักครั้ง (ปีละครั้งเดียวเอง) และยังไม่ทราบว่ากิจกรรมที่ทรมานในความคิดเริ่มแรกของเรา จะเป็นกิจกรรมที่สร้างเสริมความรู้และคุณธรรม ทำให้เด็กธรรมดา ๆ คนหนึ่ง กลายเป็นยอดคน..

1